ข่าวสาร

2nd Lunch Talk: Energy Trends & Innovations Toward Net Zero Emission

IMG_1261

2nd Lunch Talk: Energy Trends & Innovations Toward Net Zero Emission

สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) จัดเสวนา “2nd Lunch Talk: Energy Trends & Innovations Toward Net Zero Emission” วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ณ ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10)

ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับและเปิดงาน โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อังคีร์ ศรีภคากร จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ นำเสนอพลังงานทางเลือก ในหัวข้อ “Electromobility & Energy  Storage – roles in energy transition and climate resiliency” โดยการแนะนำให้ผู้ร่วมเสวนารู้จักกับพลังงานจากไฮโดรเจน ที่ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง ในการศึกษาเบื้องต้นพบว่ากระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไม่ปล่อยสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ตรงตามเป้าหมาย “Net Zero Emission” ที่มีแนวโน้มว่าพลังงานสะอาดจากไฮโดรเจนอาจเป็นเทรนด์พลังงานสีเขียวรูปแบบใหม่ที่ใช้งานอย่างกว้างขว้างมากขึ้นในโลกอนาคต

คุณพงษ์ศักดิ์ เหลืองจินดารัตน์ ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ บริษัท บีไอจี (บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส) และ ดร.เนรัญ สุวรรณโชติช่วง ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “Hydrogen for mobility” กล่าวถึงศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งเพื่อรองรับพลังงานงานสะอาดในรูปแบบใหม่ ที่เล็งเห็นว่าพลังงานจากไฮโดรเจนสามารถเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนอุสาหกรรมการขนส่งในอนาคตได้ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลและรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีแผนการขับเคลื่อน โดยการปรับกลยุทธ์และความร่วมมือร่วมกับหลากหลายหน่วยงานในประเทศ เพื่อผลักดันให้การใช้พลังงานสะอาดในการขนส่งเป็นที่แพร่หลายและใช้ได้จริงในบริบทของประเทศไทย

กิจกรรม Lunch Talk ภายใต้ “โครงการสร้างเสริมทักษะกลุ่มวิจัยสู่การผลักดันยกระดับเครือข่ายงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ Net Zero” เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยสร้างความเข้าใจที่นำไปสู่ความร่วมมือด้านเครือข่ายร่วมกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ที่มีระบบการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงความรู้เฉพาะศาสตร์เพื่อตอบโจทย์การวิจัยพัฒนา ที่นำไปสู่การสร้างผลกระทบในวงกว้างและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน