Hello! PECA เพื่อนคู่หูเรียนรู้อิงลิช
กรกฎาคม 6, 2023 2025-01-13 15:23Hello! PECA เพื่อนคู่หูเรียนรู้อิงลิช
ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับในการเป็นภาษากลางเพื่อการสื่อสาร หลายคนมีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญและสามารถสื่อสารได้อย่างชำนาญ แต่สำหรับเด็กไทยบางกลุ่ม ยังขาดโดกาสในการพัฒนาตนเองทำให้ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้แม้แต่การแนะนำตัวเองหรือการใช้คำศัพท์ง่ายๆ
เพื่อลดกำแพงทางภาษาและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ คุณศตกมลพรรณ อุปครุฑ และคุณสุพิชชา ชอบทดกลาง นิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 สาขามัธยมศึกษา (มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์) เอกภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเลือกใช้ ‘Line’ แอพพลิเคชั่นพูดคุยพื้นฐานที่มีติดโทรศัพท์ทุกเครื่อง นำมาประยุกต์ใช้เป็นเพื่อนแชทที่สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ทุกที่ทุกเวลา
“จากกรณีศึกษานักเรียนชั้น ป.6 ในโรงเรียนจังหวัดบุรีรัมย์พบว่า ปัญหานักเรียนไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ สะกดคำพื้นฐานผิด หรืออ่านออกเสียงไม่ได้ด้วยซ้ำ จึงมีไอเดียนำแพลตฟอร์ม ‘LINE’ เข้ามาใช้ร่วมกับการเรียนการสอน ทำให้เข้าถึงง่าย” คุณสุพิชชากล่าว คุณศตกมลพรรณกล่าวเสริมว่าทางกลุ่มผู้วิจัยมีความสนใจในการศึกษาแชทไลน์และการสร้าง Dialogflow ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สร้างเงื่อนไขให้กับแชทบอท และใช้ร่วมกับ LINE official ทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงได้โดยต้องโหลดแอปอื่น

PECA คือชื่อย่อปฏิบัติ ‘Practice English Language Communication anytime and Anywhere’ ที่มาจากความตั้งใจในการสร้างคาแรคเตอร์เป็น ‘เพื่อนคุย’ เพื่อทบทวนบทเรียนและคำศัพท์จากวิชาเรียน ที่สามารถนำไปใช้จริงได้ทันที โดยอ้างอิงการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสมกับการวัดระดับทางภาษาอังกฤษ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) ที่ใช้ประเมินการใช้ภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยมีการจำแนกผู้เรียนออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ A1 ระดับเริ่มต้นหรือกำลังพัฒนา A2 ระดับเข้าใจเบื้องต้น B1 ระดับกลางตามเกณฑ์ B2 ระดับกลางหรือสูงกว่าเกณฑ์ C1 ระดับสูงที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและ C2 ระดับชำนาญการที่สามารถใช้สื่อสารได้ดี ซึ่งในเนื้อหาของแนวปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้เรียนในระดับประถมศึกษา (ป.6) ว่าต้องมีความสามารถในระดับ A1 (เริ่มต้นหรือกำลังพัฒนา) คือ ผู้เรียนสามารถใช้สื่อสารประโยคง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแนะนำตัว การตั้งคำถามเกี่ยวกับบุคคลอื่น และเข้าใจบทสนทนาเหล่านี้ได้
“ได้มีการนำไปใช้กับกลุ่มที่ไปศึกษาสภาพปัญหาเลยค่ะ จะมีให้เขาไปลองใช้ โดยในชั้นเรียนเราจะสอนก่อนว่าวันนี้เราจะเรียนเรื่องอะไร เรียนเสร็จเขาก็จะสามารถทบทวนการเรียนผ่านแชทบอท เป็นการเป็นพิมพ์ตามคำศัพท์ที่ได้เรียนไป โครงสร้างประโยคที่สอนสามารถนำไปคุยก็กับน้อง PECA ได้เลย เหมือนคุยกับเพื่อที่เก่งภาษาอังกฤษ สามารถถาม-ตอบง่ายๆ ตามเซตคำถามใน Dialogflow โดยมีการแบ่งเป็นหมวดหมู่การทักทาย การบอกข้อมูลส่วนตัว การบรรยายลักษณะของผู้คน การซื้อเสื้อผ้า และการบอกกิจวัตรประจำวัน” คุณสุพิชชากล่าว
PECA Chatbot เพื่อนคู่ใจฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษทุกที่ทุกเวลา พัฒนาจากกระบวนการพัฒนานวัตกรรม ‘ADDIE’ ที่มี 5 กระบวนการ ได้แก่
- Analysis: การวิเคราะห์สภาพปัญหาที่ต้องการแก้ไขปัญหา
- Design: การออกแบบรูปแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา
- Development: ออกแบบแผนและริเริ่มพัฒนานวัตกรรม
- Implement: ทดลองนวัตกรรมกับกลุ่มโจทย์ปัญหา เพื่อทอสอบว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
- Evaluation: การประเมินข้อดี-ข้อเสียของนวัตกรรมและปรับปรุงเพื่อพัฒนาต่อ

ในอนาคต คุณสุพิชชาและคุณศตกมลพรรณมีการวางแผนการพัฒนา ‘PECA’ ให้การถาม-ตอบมีระดับที่สูงขึ้น โดยวิเคราะห์จากแผนการเรียนการสอนว่าผู้เรียนว่าต้องศึกษาหรือมีความรู้ความเข้าใจภาษาอังกฤษในเรื่องใดบ้าง และยังสนใจพัฒนาต่อโดยการเพิ่มฟีเจอร์ที่สามารถครอบคลุมไปถึงการฝึกออกเสียง โดยการศึกษาต่อเพื่อพัฒนาฟังก์ชันของการส่งข้อความเสียงหรือวีดีโอการเรียนผ่าน Contact ในบทสนทนาตอบกลับของ PECA ด้วย
คุณศตกมลพรรณกล่าวเสริมว่า “เราต้องสำรวจก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร เราสร้างนวัตกรรมให้ใคร ตรงตามความต้องการของเขาหรือสร้างมาให้แก้ปัญหาของเขาจริงหรือไม่? PECA Chatbot เราพัฒนาจากการศึกษาความต้องการผู้เรียนก่อนเริ่มพัฒนา แม้นวัตกรรมจะไม่ได้ซับซ้อนแต่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของผู้เรียนได้อย่างน่าพึงพอใจ”
“สุดท้ายแล้วคนเราจะมีความต้องการในหลายๆ ด้าน ภาษาอังกฤษก็เป็นอีกหนึ่งความต้องการเรียนรู้ที่ทุกคนอยากเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเราอยากให้ PECA เป็นแชทบอทที่มีความฉลาดขึ้นและสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศได้ง่ายและนำไปใช้ต่อยอดในเรื่องที่สนใจในอนาคตคนได้ เพราะโลกเรากว้าง ความรู้เราที่เราต้องการเรียนรู้จึงต้องเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน” คุณสุพิชชากล่าว





“เราต้องสำรวจก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร เราสร้างนวัตกรรมให้ใคร ตรงตามความต้องการของเขาจริงไหม? สร้างมาให้แก้ปัญหาของเขาได้จริงไหม? ดูความต้องการของเขาก่อนเริ่มพัฒนาค่ะ”
คุณศตกมลพรรณ อุปครุฑ (ฝั่งซ้าย-บัณฑิต)
สาขามัธยมศึกษา (มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์) เอกภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ก่อนจะเริ่ม เราต้องการศึกษาความต้องการของกลุ่มที่เราต้องการจะแก้ปัญหาจริงๆ แล้วมันจะนำมาซึ่งนวัตกรรม เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนเราจะมีความต้องการในหลายๆ ด้าน มันจะไม่มีวันสิ้นสุดอยู่แค่นี้ ต่อไปนวัตกรรมก็จะมีในหลายๆ ด้านต่อไปเรื่อยๆ ค่ะวันนี้อาจจะเป็นแค่ภาษาอังกฤษ ในอนาคตอาจจะมีบวกปัจจัยอื่นเข้ามาด้วย ต่อแล้วไปเปก้าก็อาจจะเป็นแชทบอทที่มีความฉลาดขึ้นและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น”
คุณสุพิชชา ชอบทดกลาง (ฝั่งขวา-บัณฑิต)
สาขามัธยมศึกษา (มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์) เอกภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย