3rd Lunch Talk: Net Zero Research in Action
สิงหาคม 5, 2023 2024-01-04 5:173rd Lunch Talk: Net Zero Research in Action
สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) จัดเสวนา “3rd Lunch Talk: : Net Zero Research in Actio” วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ณ ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10)
ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับและเปิดงาน โดยได้รับเกียรติจาก คุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการนำไปสู่สังคม Net Zero ในอนาคตที่ต้องหาทางเชื่อมโยงระหว่างการบรรเทาปัญหามลภาวะในปัจจุบัน กับ การปรับตัวในการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องมีการเตรียมองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจความเป็นกลางทางคาร์บอน
รองศาสตราจารย์ ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงทิศทางการเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย ที่เริ่มมีการจัดการและหาแนวทางในการควบคุมมลพิษที่ถูกผลิตขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์แนวโน้มของงานวิจัยที่เกี่ยวกับการผลักดันให้นโยบาย Net Zero เกิดผลงานที่สามารถใช้งานได้จริงในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนการผลิตต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจากธรรมชาติ (พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฮโดรเจน) การปรับปรุงระบบท่อนำส่งก๊าซเพื่อรองรับพลังงานรูปแบบผสม เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับมหาวิทยาลัย โดยกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก แต่สามารถทำได้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน” และเล่าถึงกิจกรรมการปรับเปลี่ยนภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างบรรยายกาศของการมีส่วนร่วมของบุคลากรให้มีพฤติกรรมในการสร้างคาร์บอนน้อยลง
กิจกรรม Lunch Talk ภายใต้ “โครงการสร้างเสริมทักษะกลุ่มวิจัยสู่การผลักดันยกระดับเครือข่ายงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ Net Zero” เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยสร้างความเข้าใจที่นำไปสู่ความร่วมมือด้านเครือข่ายร่วมกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ที่มีระบบการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงความรู้เฉพาะศาสตร์เพื่อตอบโจทย์การวิจัยพัฒนา ที่นำไปสู่การสร้างผลกระทบในวงกว้างและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน



