“พาร์สร้างศิลป์” ชวนสร้างสรรค์ สร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงวัยโรคพาร์กินสัน
สิงหาคม 17, 2023 2025-01-13 14:03“พาร์สร้างศิลป์” ชวนสร้างสรรค์ สร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงวัยโรคพาร์กินสัน

“พาร์สร้างศิลป์” ชวนสร้างสรรค์ สร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงวัยโรคพาร์กินสัน
“ในระยะเริ่มแรกของผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันจะมีอาการอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการสั่นหรือแข็งเกร็งในบางเวลา แต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่สั่นหรือแข็งเกร็งไม่เหมือน ไม่ได้สั่นตลอดเวลา จะมีบางช่วงเวลาที่ยังสามารถดูตนเองและทำกิจกรรมได้อย่างคนปกติ”
คุณอริสรา วิโรจน์ นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะ “พาร์สร้างศิลป์” เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงวัยที่เป็นโรคพาร์กินสันที่เป็นผู้สูงอายุช่วงวัยตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปที่เริ่มมีปัญหาเรื่องความเสื่อมของระบบประสาทจนกลายเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การด้อยค่าในตัวเองและส่งผลไปสู่สุขภาพด้านอื่นๆ ได้ในอนาคต
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งมีอาการสังเกตได้ง่ายคือ การเคลื่อนไหวช้า มีอาการสั่นแม้อยู่เฉย แข็งเกร็ง รวมถึงมีอาการซึมเศร้าที่เป็นผลข้างเคียงและส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทั้ง 4 ด้านของผู้สูงวัยได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม “เมื่อร่างกายทำงานไม่ปกติเหมือนก่อน ทำให้ส่งผลไปถึงด้านจิตใจ เกิดการวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า และขาดความมั่นใจในตนเอง จนนำไปสู่การหลีกหนีการเข้าสังคม ทำให้เกิดปัญหาทางด้านปัญญาเพราะว่าไม่อยากไปเจอผู้คนและก็ไม่อยากเรียนรู้ ขาดการใช้ความคิด และมีจินตนาการลดน้อยลง” คุณอริสรา อธิบายถึงปัญหาที่ผู้ป่วยต้องพบเจอ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแถมพ่วงมาด้วยโรคเสื่อมทางระบบประสาท

ชุดกิจกรรมศิลปะ “พาร์สร้างศิลป์” เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงวัยที่เป็นโรคพาร์กินสัน จึงพาผู้ป่วยร่วมถึงผู้สูงวัยออกมาจากกรอบอายุและความเจ็บป่วย เกิดเป็นชุมชนสร้างสรรค์งานศิลปะ สร้างการเรียนรู้ และใช้ทักษะร่างกายที่มีอยู่สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง
“นวัตกรรมนี้ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลปัญหาของผู้สูงวัยโรคพาร์กินสันมาวิเคราะห์สังเคราะห์ร่วมกับรูปแบบการสอนทักษะปฏิบัติของซิมพ์สัน* ที่เน้นการใช้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ประสานสัมพันธ์กัน ซึ่งกิจกรรมศิลปะก็เน้นการฝึกทักษะและใช้กล้ามเนื้อมือเช่นกัน โดยเราจัดกิจกรรมที่ได้ใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็กสายตา และสมองในการทำงาน มีความเพลิดเพลินสนุกสนานผ่อนคลาย เริ่มได้ใช้สมาธิและจินตนาการ เริ่มสร้างสรรค์ รวมไปถึงการทำงานศิลปะร่วมกับผู้อื่น และพาร์สร้างศิลป์มีการสร้าง community ผ่าน Application LINE ให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้และแลกเปลี่ยนการชื่นชมผลงานซึ่งกันและกัน ได้ให้กำลังใจตนเองและให้กำลังใจผู้อื่น”
*แนวคิดการพัฒนาทักษะปฏิบัติของซิมพ์สัน (Simpson, 1972) กล่าวถึงทักษะที่มีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางร่างกายของผู้เรียน การทำงานมีความซับซ้อนและต้องใช้ความสามารถของกล้ามเนื้อหลายส่วน ซึ่งเกิดจากการสั่งการของสมอง มีปฏิสัมพันธ์กับความรู้สึก หากได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จะเกิดเป็นความชำนาญ แม่นยำ และสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมศิลปะเพื่อผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเกิดจากการสังเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยทั้งคุณหมอ พยาบาล นักจัดกิจกรรม รวมถึงตัวผู้ป่วย เพื่อจัดสรรกิจกรรมศิลปะที่เหมาะสมที่สุด โดยแบ่งออกเป็นกิจกรรม 5 บทเรียน ได้แก่
- “Scribble Art” เรียนรู้ประเภทของเส้นวาด ฝึกทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมือ ออกแบบงานศิลปะจากบทเพลง สร้างความสุนทรีย์และปล่อยใจไปกับศิลปะ
- “Nature Bookmark” สังเกตลายเส้นจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า และดอกไม้ พร้อมลายเส้นตัวอย่าง ปลุกจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
- “Contour drawing Postcard”เพิ่มความท้าทาย เรียนรู้ทักษะวาดเส้นแบบไม่ยกมือ ฝึกการสังเกตและการประสานสัมพันธ์กันของสมอง กล้ามเนื้อมือ และสายตา สร้างความสนุกร่วมกับครอบครัวได้ด้วยการ์ดภาพ จับภาพไหนวาดภาพนั้น ศิลปะสนุกๆ ที่เล่นคนเดียวไม่ได้แล้ว
- “Clay coil pots” สร้างเส้นให้เป็นชิ้นงานด้วยการปั้นดิน ฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็ก มัดใหญ่ ขยายขอบเขตจินตนาการที่ไปได้ไกลมากกว่าวาดลงบนกระดาษ
- “Line art Community” มีดีก็ต้องโชว์ ร่วมอวดผลงานศิลปะในหัวข้อ ‘Your Line Art’ แลกเปลี่ยนไอเดีย เรียนรู้ทริคศิลปะจากผู้อื่น ร่วมให้กำลังใจและชมชื่นผลงานศิลปะได้โดยไม่ต้องไปแกลลอรี่



“ทักษะทางศิลปะมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวาด การลงสี การปั้น หรือว่าการประดิษฐ์ สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีทักษะและไม่มีทักษะทางศิลปะ เราจะเริ่มสอนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นที่มีความยากอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ที่เห็นได้ชัดก็คือสภาพจิตใจ ทำให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น สามารถสร้างผลงานออกมาได้ ไม่ว่าจะสวยหรือไม่สวย เขาก็จะภูมิใจในผลงานของเขา ได้พูดคุยกัน ได้ส่งเสริมให้เขามีแรงกระตุ้นในการทำงานศิลปะต่อไป เราเลือกใช้กลุ่มแชตในไลน์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอย่างง่ายที่ผู้สูงวัยค่อนข้างใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ซับซ้อน คุ้นชิน และได้พูดคุยกันได้ตลอดเวลา” คุณอริสรากล่าว
จุดประสงค์ของชุดกิจกรรมศิลปะ “พาร์สร้างศิลป์” คือการสร้างกำลังใจให้กับผู้สูงวัยที่มีอาการของโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มแรกไปจนถึงระยะกลาง โดยที่ผู้ป่วยยังสามารถดูแลตัวเองได้ เกิดเป็นความสนุกคลายทุกข์จากโรคและสะท้อนคิดถึงการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ชุดกิจกรรมนี้ยังเป็นการเชิญชวนให้ผู้สูงวัยเห็นความงามของศิลปะ สามารถเลือกสร้างผลงานได้ทุกที่ทุกเวลาในรูปแบบของเซ็ตถุงผ้าพกพาสะดวก
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ส่วนใหญ่เป็นการคงไว้ซึ่งระยะอาการตรงจุดนั้นให้นานที่สุด เพราะฉะนั้นการที่เขาได้ทำกิจกรรมศิลปะจะช่วยคงระยะของโรคได้ เป็นนวัตกรรมศิลปะที่ให้ได้เห็นคุณค่าและรู้สึกสนุกสนาน ได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นของตัวเอง ภูมิใจในตนเอง
“ผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยยังสามารถที่จะเรียนรู้อะไรได้อีกมากมาย เพราะเรื่องอายุและความเจ็บป่วยไม่ใช่ปัญหาในการเรียนรู้ แต่เป็นเรื่องของสุขภาวะมากกว่าที่ทำให้เขาเหล่านี้หยุดพัฒนา อยากจะให้ลองศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงวัยที่เป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าในปัจจุบันเรากลายเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มตัวแล้ว ซึ่งมันมีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้กับผู้สูงวัยได้”
คุณอริสรากล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันและความงามของศิลปะที่ช่วยส่งเสริมให้ชีวิตในช่วงบั้นปลายมีความหมายมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ. (2564). โรคพาร์กินสัน (Parkinson Disease), จากเว็บไซต์โรงพยาบาลเมดพาร์ค (https://www.medparkhospital.com/content/parkinsons-disease)
- ทิศนา แขมมณี. (2548). รูปแบบการเรียนการสอน: ทางเลือกที่หลากหลาย (พิมพ์ครั้งที่ 3). (น.35). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณอริสรา วิโรจน์ (มหาบัณฑิต)
สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ขนบพร แสงวณิช