บทความ

Mimic to MeMix: “ศิลปะเลือกเป็นศิลปิน” เลียนแบบเพื่อเรียนรู้ศิลปะในแบบของตนเอง

Cover

Mimic to MeMix: “ศิลปะเลือกเป็นศิลปิน” เลียนแบบเพื่อเรียนรู้ศิลปะในแบบของตนเอง

งานศิลปะชิ้นแรกของคุณเกิดขึ้นจากอะไร? Reference จากคนในครอบครัว การลอกลายจากตัวการ์ตูนที่ชื่นชอบ การตกแต่งปกหนังสือหรือการแอบวาดรูปเล่นในหนังสือแบบเรียน สิ่งไหนที่ทำให้คุณค้นพบความสามารถด้านการสร้างสรรค์และอยากต่อยอดไปสู่ผลงานศิลปะที่ดีขึ้น ลงสีได้สวยขึ้น หรือการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครในแบบฉบับลายเส้นของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะด้านศิลปะคือ “แรงบันดาลใจ” แหล่งวัตถุดิบชั้นดีในการเรียนรู้มักมาจากบุคคลต้นแบบที่เราให้ความสนใจ คุณสุภาพรรณ วงศ์ศักดิ์ศิริกุล นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้สนุกยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด “Self directed Education” จัดการเรียนรู้ศิลปะบนฐานทางเลือก โดยผู้เรียนสามารถตอบสนองความคิดตนเองผ่านชุดกิจกรรมการเรียนรู้บัตรภาพผลงานศิลปะ “เลือกเป็นศิลปิน”

“ชุดภาพนี้จะเป็นภาพผลงานศิลปินทั้งหมด 20 ท่าน เราคัดเลือกผลงานที่มีชื่อเสียงมานำเสนอ ทั้งข้อมูลของศิลปิน ผลงานที่เกี่ยวข้อง รูปแบบการสร้างสรรค์งาน และเทคนิคการวาดรูป นำเสนอออกมาในรูปแบบของบัตรภาพ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความสนใจ ควบคู่ไปกับความรู้พื้นฐานทางศิลปะ โดยในชุดกิจกรรมจะมีแบบฝึกการสร้างสรรค์ แบบบันทึกการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลงานศิลปะของตัวเอง” คุณสุภาพรรณกล่าว

การฝึกฝนทักษะศิลปะโดยมีโอกาสได้เลือกเรียนตามความชอบเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้และสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียน การเลือกศิลปินที่ชมชอบเพื่อเป็นไอเดียในการเรียนรู้ จึงนำไปสู่การต่อยอด พัฒนา รวมไปถึงการทดลองเลียนแบบการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นผลงานในรูปแบบของตนเอง

คุณสุภาพรรณกล่าวต่อไปว่า “การให้ผู้เรียนได้เลือกเนื้อหาที่ตัวเองสนใจจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับเขาได้ เขามีสิทธิ์ที่จะเลือกตามความสนใจแล้วนำมาสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ต่างออกไปได้ จุดตั้งต้นอาจจะเป็นการลอกเลียนแบบ แต่ว่าหากจับจุดที่ชอบและไม่ชอบนำไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นของตัวเองได้ ขั้นต่อไปก็จะเริ่มกลับมามองในผลงานตัวเองมากขึ้น มองหาจุดต่างและสร้างเป็นผลงานที่มีความเป็นตัวเองมากขึ้น กลายเป็นคนผลิตงานศิลปะที่มีความรู้พื้นฐาน เช่น การวาด ลายเส้น การผสมสีตามแบบศิลปินที่ชอบ ฝึกการสังเกตจุดสำคัญของภาพนำมาปรับวิเคราะห์เชิงศิลป์หรือวิเคราะห์วิพากษ์ได้ ดูกระบวนการการทำงานของศิลปิน เราจะมีการไกด์ให้เขานิดหน่อย อาจจะเป็นรูปแบบภาพเหมือน หรือว่าเป็นการตกแต่งแจกัน หรือเป็นการภาพวาดทิวทัศน์ ซึ่งบัตรภาพจะช่วยทำให้ผู้เรียนสามารถต่อยอดจากสิ่งที่ค้นพบได้ง่ายมากขึ้น”

นอกจากนี้ ผลงานจากการเรียนรู้จะถูกต่อยอดไปสู่พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม เพื่อให้ผู้เรียนได้จำลองการนำเสนอผลงานในสไตล์ของตัวเอง ซึ่งในฐานะศิลปิน จุดสุดท้ายของการผลิตผลงานคือการนำเสนอ การได้ลองสวมบทบาทเป็น “ภัณฑารักษ์” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของพิพิธภัณฑ์ การเข้าใจผลงานและนำเสนอให้น่าสน เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินท่านอื่น รวมถึงเรียนรู้แนวคิดด้านทัศนศิลป์ของเพื่อนได้อีกด้วย

“กิจกรรมศิลปะบนฐานทางเลือก เป็นกิจกรรมศิลปะที่ไม่ได้มีตามหลักสูตรแกนกลาง แต่เน้นไปในเรื่องของการสร้างทางเลือกให้กับผู้เรียน รวมถึงผู้ที่สนใจศิลปะอยู่แล้ว หรือผู้ที่ไม่มีพื้นฐานศิลปะเลยก็ตาม เรารวมองค์ความรู้ที่ทำให้เขาสามารถนำไปเล่นได้ หรือสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อในเชิงลึกเกี่ยวกับงานศิลปะ ถึงกิจกรรมชุดนี้อาจจะมีรายละเอียดที่ไม่ได้เยอะมาก แต่เราสามารถบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีได้ เช่น การเพิ่มแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ให้ศึกษาเพิ่มเติม หรือเชื่อมต่อ Community งานศิลปะเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและพบปะศิลปินคนอื่นในผลงานสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ เราอยากสร้างการเรียนศิลปะอย่างง่ายที่สนุกและสร้างแรงบันดาลใจให้เขาด้วยค่ะ”

การลอกเลียนแบบเพื่อการฝึกฝนต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับขอบเขตในการนำเสนอ เพื่อไม่ให้นำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น นอกจาก ‘แรงบันดาลใจ’ บทเรียนต่อไปคือการให้ความเคารพต่อชิ้นงานศิลปะของผู้อื่น เราสามารถเรียนรู้ได้ แต่ต้องไม่มีลืมที่จะสร้างสรรค์ใน ‘แบบของตัวเอง’ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะเป็นเพียง ‘ของเลียนแบบ’ มากกว่าเป็น ‘ศิลปิน’ ที่แท้จริง

“กิจกรรมชุดนี้เป็นการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาให้กับผู้เรียน ทั้งผู้ที่สนใจศิลปะอยู่แล้วหรือผู้ที่ไม่มีพื้นฐานศิลปะเลยก็ตาม คิดว่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะว่าเรารวมเป็นองค์ความรู้ให้เขาสามารถไปเล่นได้ อาจจะศึกษาในเชิงลึกได้มากกว่านี้ด้วย อาจจะมีรายละเอียดที่ไม่ได้เยอะมากแต่เราสามารถนำไปรวมกับเทคโนโลยีได้อีก เช่น เป็นช่องทางออนไลน์ให้เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมไปได้อีก เป็นการเรียนศิลปะอย่างง่ายแลก็สนุกด้วยค่ะ”

คุณสุภาพรรณ วงศ์ศักดิ์ศิริกุล (มหาบัณฑิต)

 สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.โสมฉาย บุญญานันต์