บทความ

ProcMos ชุดตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากแบบ Origami

Cover

ProcMos ชุดตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากแบบ Origami

สาวๆ วัย 30 นอกจากจะกลัวขึ้นคานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันก็คือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับหนุ่มๆ เองก็มีการตรวจคัดกรองมะเร็งที่ต้องตรวจภายในเหมือนกัน นั่นก็คือ “การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก” โดยการสอดนิ้วไปยังทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมากที่อยู่ด้านหน้า เจ็บไม่มากแต่ทำใจอยู่นาน คิดไปคิดมาก็เบี้ยวนัดหมอซะเลยแล้วกัน!

ปัญหาเลี่ยงพบแพทย์ทำให้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากกลายเป็นภัยเงียบสำหรับผู้ชาย ใกล้เคียงกับโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมของผู้หญิง ซึ่งการคัดกรองโรคยังคงต้องพึ่งการตรวจด้วยมือหรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง และนั่นก็หมายถึงภาระในการแบกรับค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลสุขภาพที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยสายงานนักวิจัยทำให้มองเห็นปัญหาในการตรวจคัดกรองโรคที่ยุ่งยากและโอกาสการเข้ารับการรักษาไม่ทันท่วงที คุณภูริทัต แก้วอาสา นิสิตปริญญาเอก จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร. วนิดา หลายวัฒนไพศาล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จึงคิดค้นอุปกรณ์ตรวจคัดกรองระดับโมเลกุลมะเร็งต่อมลูกหมาก “ProcMos” ที่ทำให้การตรวจคัดกรองเป็นเรื่องง่ายในราคาแสนย่อมเยา

“ในปัจจุบันเรามีวิธีตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากโดยการเจาะเลือดตรวจโปรตีน PSA (Prostatic Specific Antigen) ซึ่งหากผู้ป่วยมีความผิดปกติอื่นของต่อมลูกหมากก็สามารถตรวจพบโปรตีน PSA นี้สูงขึ้นได้ จึงนำไปสู่การหานวัตกรรมเพื่อตรวจสารบ่งชี้โรคแบบใหม่เพื่อความจำเพาะต่อโรคมากขึ้น เราพบว่าส่วนมากคนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมีค่า PCA3 (Prostate Cancer Associated 3) สูงมากกว่าคนปกติ โดยใช้วิธี qRT-PCR (Quantitative Reverse Transcriptase-Polymerase Chain Reaction) ในการตรวจคัดกรอง แต่ด้วยราคาที่สูงและต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวัด ทำให้ไม่เหมาะกับการใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ทุกคน เราจึงพัฒนาและผลิตเป็นอุปกรณ์ “ProcMos” เพื่อใช้อ่านค่าด้วยตาเปล่าจากความเข้มของสีโดยมีแพลตฟอร์มที่แสดงผลบนกระดาษ ซึ่งเราประมาณการราคาไว้ที่ 150 บาทต่อชิ้นเท่านั้น”

คุณขจีพรรณ เพิ่มโภคา หนึ่งในทีมผู้พัฒนากล่าวถึงที่มาของการพัฒนานวัตกรรมสำหรับคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากผ่านกระดาษพิมพ์เคลือบแว็กซ์ ที่สามารถสร้างแพลตฟอร์มตรวจโรคด้วยการพับกระดาษซ้อนกันเป็นชั้น ตามแนวคิด “โอริกามิ” ทำให้อุปกรณ์มีขนาดกระทัดรัด น้ำหนักเบา การผลิตไม่ซับซ้อนและสามารถทำซ้ำได้ง่าย จึงส่งผลทำให้ต้นทุนและวัสดุในการผลิตมีราคาที่ถูกลง

หลักการใช้งานยังคงจำกัดอยู่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ที่ต้องมีน้ำยาชนิดพิเศษ มีขั้นตอนการรอปฏิกิริยา ซึ่งมีวิธีโดยสังเขป ดังนี้

  1. นำน้ำยาตรวจ PCA3 ที่ผสมกับปัสสาวะเรียบร้อยแล้ว หยดลงบนชุดตรวจ จากนั้นรอให้เกิดปฏิกิริยาประมาณ 15 นาทีซึ่งจะมีการจับกันระหว่างโพรบและยีน PCA3
  2. หยดน้ำยาตัวที่สอง ที่มีส่วนผสมของ DNA ซึ่งผ่านการพัฒนาให้มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์ หรือที่เรียกว่า “DNAzyme” ทำหน้าที่เป็นตัวรายงานผล รอปฏิกิริยาอีกประมาณ 1นาที
  3. หยดน้ำยาชะล้าง เพื่อให้สารที่ไม่ได้ทำปฎิกิริยา ไหลลงไปด่านล่างของชุดตรวจ จากนั้นใส่สารตั้งต้นและรออ่านผล ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในการเปลี่ยนสีปฏิกิริยา โดยความเข้มของสีจะแสดงถึงปริมาณความเข้นข้นของ PCA3 บนตัวอย่าง  

จริงอยู่ที่ขั้นตอนเหล่านี้มีความซับซ้อนเกินกว่าผู้ใช้งานทั่วไปจะสามารถคัดกรองเองได้ที่บ้าน แต่ในสายงานของเหล่าคุณหมอและนักเทคนิคการแพทย์ อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถช่วยลดขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและการใช้น้ำยาหรือเครื่องมือที่มีราคาแพงได้อย่างมหาศาล

“ส่วนใหญ่จะเป็นคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญที่ใช้งาน เพราะว่าการตรวจวัดมะเร็งขึ้นอยู่กับการแปลผล ถ้าคนทั่วไปใช้แล้วแปลผลไม่ถูกก็อาจจะทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ จึงต้องใช้ในโรงพยาบาลก่อน หากมีแนวโน้มว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็จะได้ส่งตรวจด้วยวิธีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อเป็นการยืนยันผลต่อไป” คุณขจีพรรณกล่าว

“เราคิดจะพัฒนาต่อยอดจากงานนี้ไปปรับใช้กับการตรวจวัด RNA ในโรคอื่นๆ โดยใช้หลักการนี้ เปลี่ยนเพียงแพลตฟอร์มหรือน้ำยาในการตรวจวัด ซึ่งในการคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเราก็มีความสนใจจะพัฒนาวิธีการตรวจคัดกรองในแบบอื่นๆ ด้วย เช่น การใช้เทคนิคเคมีไฟฟ้าที่สามารถแสดงผลบนหน้าจอได้แม่นยำมากขึ้น”

งานวิจัยด้านนวัตกรรมการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เราอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัวหรืออาจจะเป็นเรื่องเฉพาะแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าหากเราเกิดการรับรู้และเกิดการสะท้อนปัญหากลับมายังนักวิจัย นั่นอาจเป็นการจุดประกายไอเดียใหม่ในการต่อยอดผลงานยากๆ ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น เหมือนกับ อุปกรณ์ตรวจคัดกรองระดับโมเลกุลมะเร็งต่อมลูกหมาก ProcMos” ที่แก้ไขปัญหาการเข้าถึงการคัดกรองโรคให้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการยกระดับด้านสาธารณะสุขของคนในชาติให้ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้นในอนาคตอันใกล้

งานวิจัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพียงแต่เราเลือกที่จะมองในมุมไหน…ก็เท่านั้นเอง