ข่าวสาร

1st Lunch Talk: Funding opportunities for future food research and innovations

ย่อ 4

1st Lunch Talk: Funding opportunities for future food research and innovations

สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา 1st Lunch Talk: Future Food Platform ในหัวข้อ “Funding opportunities for future food research and innovations” ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับและเปิดงาน โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Adrián Gutiérrez ที่ปรึกษาด้านการวิจัยและนวัตกรรม (สาธารณรัฐประชาชนจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ผู้แทนจาก Centre for Industrial Technological Development (CDTI) ในการเข้าร่วมเสวนา ซึ่ง CDTI เป็นองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมจากราชอาณาจักรสเปน รวมถึงการให้งบประมาณสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวิจัย บพข. บรรยายในหัวข้อ “A Platform to create future food entrepreneurs from local to global” โดยกล่าวถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันการวิจัยด้านอาหาร ร่วมกับ Centre for Industrial Technological Development (CDTI) ราชอาณาจักรสเปน ในการเป็น ‘คนกลาง’ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้างโครงการวิจัยด้านนวัตกรรมอาหารสู่ผลิตภัณฑ์ในตลาดเอเชีย โดยเน้นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาหารทางเลือก Functional food รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การ Upskill / Reskill การศึกษาดูงานในต่างประเทศ และการสร้าง Partnership ด้านฐานข้อมูลอาหารและรสชาติของผู้คนในประเทศนั้น ๆ

คุณเมธา จารัตนาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอพี แวลู จำกัด ในหัวข้อ “Creating global market opportunity from collaborative research for future food” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนความต้องการงานวิจัยและแนวโน้มการตลาดในอนาคต โดยเผยข้อมูลเทคโนโลยีด้านอาหารที่มีความโดดเด่นและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ Food Product & Process, Functional Food, Food Packaging, Kitchen Equipment, Information Technology และ Microbial & Enzymes ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการสกัดโดยวิธีธรรมชาติเพื่อส่งผลต่อสุขภาพที่แข็งแรง มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารพร้อมทานเฉพาะบุคคลและฟังก์ชั่นพิเศษของอาหารจากพืช เช่น สารสกัด อาหารเสริม และวัตถุดิบพร้อมปรุง

ดร.อัจฉริยา อักษรอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองเกี่ยวกับกลไกการสนับสนุนโครงการวิจัยด้าน Future Food ในการสร้างกลุ่มวิจัยที่รวบรวมความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเพื่อสร้างผลงานวิจัยที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเสนอแนวทางในการบริหารจัดการกลุ่มวิจัย ให้มีการกำหนดทิศทางในการสร้างผลผลิตที่ชัดเจน มี Output / Outcome และสร้างผลกระทบที่มีประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคม ผ่านกระบวนการคิดแบบ ‘หัวหอม’ หรือการคิดแบบหลายชั้น ที่คำนึงถึงผู้ใช้ประโยชน์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้สนับสนุน และพันธมิตรทางวิชาการ ให้ครอบคลุมในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในการวิจัยที่ครบวงจรและตอบโจทย์ปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ