บทความ

การเสวนา หัวข้อ “ทิศทางนวัตกรรมทางทหารในอนาคต”

IMG_1517

การเสวนา หัวข้อ “ทิศทางนวัตกรรมทางทหารในอนาคต”

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดงานเสวนา 2 หัวข้อ ได้แก่ “ทิศทางนวัตกรรมทางทหารในอนาคต” และ “ความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศ” ณ ห้อง 206 กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน “นิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2566” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2566

พลตรี รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพล สงนุ้ย รองผู้บัญชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กล่าวว่า “การจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อให้นักเรียนของเราได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีอัตราเร่งที่มีนัยยะสำคัญ ทั้งวงวิชาการการศึกษา หรือวงวิชาการทางทหาร จำเป็นต้องรับรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดเสวนา โดยหวังว่าในครั้งต่อไปเราจะได้รับความร่วมมือจากสถาบันภายนอกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีความต้องการให้อาจารย์เกิดความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต”

พลตรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มนัส ธนวานนท์ ผู้อำนวยการส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดเสวนาที่เกิดจากการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมทางทหารและปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งมีชีวิต จึงประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จัดการเสวนาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านวิชาการให้แก่นักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

“นิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับครูและนักเรียนนายร้อย ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในผลงานวิจัยทางทหารและความมั่นคง โดยมีผลงานจัดแสดงจากหลากหลายมหาวิทยาลัยร่วมกับผลงานจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

หัวข้อเสวนา “ทิศทางนวัตกรรมทางทหารในอนาคต” ได้รับเกียรติจากวิทยากรผ็ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในแวดวงวิชาการการศึกษา ได้แก่

  • รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • รองศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัญญวิชร์ วังยาว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร นุตยะสกุลกองวิชาวิศวกรรมโยธา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ดำเนินรายการโดย พันเอกหญิง ศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล เสนีวงศ์ ณ อยุธยา กองวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สังกัดส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว ได้ให้นิยามของ ‘นวัตกรรม’ ว่าคือสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าสู่กระบวนการนำไปใช้งาน เติบโต หมุนเวียนอย่างเป็นระบบ โดยผู้ใช้งานก็คือผู้ที่ทำให้นวัตกรรมเติบโต เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการไม่สิ้นสุด และผู้พัฒนาต้องมีความเข้าใจผู้ใช้งานเพื่อพัฒนาได้ตรงความต้องการ ซึ่งในแง่ของกองทัพ ผู้พัฒนายุทโธปกรณ์ก็มักจะไม่ใช่ทหาร ดังนั้นผู้ใช้งาน (ทหาร) ต้องเป็นผู้เข้ามาแจ้งความต้องการกับผู้พัฒนา เพื่อให้ออกมาเป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผ่านกระบวนการคิดและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงจะเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของนโยบายในการผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยี รองศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกำลังเจอความท้าทายอย่างรุนแรง ก่อนหน้านี้มีการพัฒนางานนวัตกรรมภาคพลเรือนทั่วไป แต่ในส่วนของภาคทหารนั่นต่างกันออกไป ความต้องการของนวัตกรรมจะต้องเป็นชิ้นงานและเป็นความลับ และไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้นักวิจัยส่วนใหญ่ไม่ต้องการพัฒนา แต่งานนวัตกรรมเหล่านี้มีความสำคัญในระดับชาติ หากเราพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในยามที่มีปัญหาเราสามารถนำออกมาใช้ได้ทันที โดยผมมองว่าในแผนการรบทุกเหล่าทัพต้องสอดคล้องกันและมีคนเข้าใจเทคโนโลยีเป็นตัวกลางในการประสานงาน ซึ่งทหารต้องมองตัวเองเป็น Power User ที่รู้จักความต้องการและสามารถสื่อสารหรือให้ผลตอบรับที่มีประโยชน์กับผู้พัฒนาได้”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการ จัดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศชาติ ในการนำความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 7 แขนงวิชาดังนี้

  • วิชาวิศวกรรมโยธาและวัตถุระเบิด
  • วิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเพื่อการป้องกันประเทศ
  • วิชาวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อการป้องกันประเทศ
  • วิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการป้องกันประเทศ
  • วิชาวิศวกรรมโลหการเพื่อการป้องกันประเทศ
  • วิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เพื่อการป้องกันประเทศ
  • วิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์เพื่อการป้องกันประเทศ

รศ.ดร.พิชญ กล่าวต่อว่า หลักสูตรการป้องกันประเทศฯ ช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนนายร้อยในปัจจุบัน สามารถนำความรู้มาพัฒนาต่อยอดในทางกองทัพเพื่อความมั่นคงของประเทศ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงสงบสุข แต่เมื่อถึงยามจำเป็นเทคโนโลยีต้องพร้อมใช้ ส่วนภาคพลเรือนเองก็ตอบโจทย์ผู้ใช้งานเทคโนโลยี เช่น การตรวจสอบมาตรฐาน การสื่อสารความต้องการ หรือแจ้งคุณภาพผลงานที่เหมาะสมได้ตามความต้องการของประชาชนและผู้พัฒนา ซึ่งมีความต้องการเกิดขึ้นตลอดเวลา

ทั้งนี้ หลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ จะได้ใบประกาศรับรองหลักสูตรจาก IBM Academic Initiative ทางด้าน AI, Cyber Security, Cloud และ Beta Analytic ตอบโจทย์ฐานความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดได้

พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร นุตยะสกุล มองว่าแนวทางในการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเป็นไปด้วยดีเสมอมา โดยได้รับพระมหากรุณาจากทูลกระหม่อมอาจารย์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้การสนับสนุนอย่างรอบด้าน “ผมมองว่าการสนับสนุนจากโรงเรียนนายร้อยฯ ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องมองเห็นปัญหาก่อน โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อนครับ และต้องมีเหตุผลและหลักการในการให้ความมั่นใจกับผู้บังคับบัญชาเพื่ออนุมัติงบสนับสนุนในการดำเนินงาน”

“การที่จะคิดนวัตกรรมการวิจัยทางทหารแล้วไม่ให้ขึ้นหิ้ง จะต้องจับคู่ “เทรนด์” กับ “ภัยคุกคาม” ให้ได้ ซึ่งในเรื่องของภัยคุกคามเราคิดเองไม่ได้ แต่จะมีสำนักงานนโยบายและแผนของกระทรวงกลาโหมในการประเมินศักยภาพจากยุทธศาสตร์ชาติ แม้เราจะเป็นประเทศที่ไม่ลุกลานใคร แต่ก็ต้องตั้งรับและเรียนรู้นวัตกรรมทางทหารของเพื่อนบ้านอยู่เสมอ โดยผมแบ่งงานวิจัยออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การดำรงสภาพ การเพิ่มขีดความสามารถ และความทันสมัย ถ้าทำงานวิจัยแล้วไม่ตรงกับสิ่งเหล่านี้ โอกาสที่กองทัพจะสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอดก็จะน้อยลง เพราะไม่มีผลกระทบอะไรที่จะตอบโจทย์เพื่อทำงานวิจัยต่อไปได้ครับ” พ.อ.ผศ.ดร.ณัฐพร กล่าว