การเสวนา หัวข้อ “ความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศ”
ธันวาคม 22, 2023 2024-01-09 15:41การเสวนา หัวข้อ “ความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศ”
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดงานเสวนา 2 หัวข้อ ได้แก่ “ทิศทางนวัตกรรมทางทหารในอนาคต” และ “ความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศ” ณ ห้อง 206 กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน “นิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2566” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2566
พลตรี รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพล สงนุ้ย รองผู้บัญชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กล่าวว่า “การจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อให้นักเรียนของเราได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีอัตราเร่งที่มีนัยยะสำคัญ ทั้งวงวิชาการการศึกษา หรือวงวิชาการทางทหาร จำเป็นต้องรับรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดเสวนา โดยหวังว่าในครั้งต่อไปเราจะได้รับความร่วมมือจากสถาบันภายนอกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีความต้องการให้อาจารย์เกิดความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต”
พลตรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มนัส ธนวานนท์ ผู้อำนวยการส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดเสวนาที่เกิดจากการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมทางทหารและปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งมีชีวิต จึงประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จัดการเสวนาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านวิชาการให้แก่นักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
“นิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับครูและนักเรียนนายร้อย ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในผลงานวิจัยทางทหารและความมั่นคง โดยมีผลงานจัดแสดงจากหลากหลายมหาวิทยาลัยร่วมกับผลงานจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
หัวข้อเสวนา “ความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศ” ได้รับเกียรติจากวิทยากรร่วมเสวนาจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทยที่เคยไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา-ขั้วโลกใต้ในโครงการ “CHINARE” (Chinese National Antarctic Research Expedition) ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ ดร.พิษณุพงศ์ กาญจนพยนต์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์
- ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุกูล บูรณประทีปรัตน์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- พันเอก รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติภพ พรหมดี สังกัดส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเตรียมตัวก่อนไปขั้วโลกใต้
พ.อ.รศ.ดร.กิตติภพ: เบื้องต้นคือการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย ส่วนใหญ่ไปตรวจสุขภาพด้านร่างกายที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้าฯ ทุกรุ่นเลยครับ เนื่องจากมีเครื่องมือตรวจเฉพาะ ที่สามารถตรวจร่างกายได้อย่างละเอียด เช่น ตรวจสายตา เจาะเลือด ต่อไปจะเป็นการเตรียมอุปกรณ์และชุด ส่วนใหญ่ตัวแทนจากประเทศไทยจะไปรับชุดที่ประเทศชิลี เป็นชุดที่ทางจีนเตรียมให้ มีทั้งหมด 40 ไอเท็ม และ 17 ชุดหลัก ได้แก่ เสื้อ กางเกง รองเท้า โดยเฉพาะเสื้อทีมสีแดงจะมีติดธงชาติจีนที่หน้าอกด้วย
นอกจากนี้ทางทีมจุฬาฯ ก็ช่วยวางแผนกำหนดเส้นทางเที่ยวบิน ซึ่งในรุ่นของผมจะมีบินจากสุวรรณภูมิไปแฟรงก์เฟิร์ต ไปเซาเปาโล-บราซิล และสิ้นสุดที่ซานดิเอโก้-ชิลี แล้วค่อยบินไปแอนตาร์กติกา เมื่อไปถึงชิลี ทีมจากจีนจะให้การสนับสนุนเราทั้งหมดเลยทั้งค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่ ที่พัก และพบหัวหน้าสถานีที่ซานดิเอโก้ ผมพบ “คุณบลู” หัวหน้านักวิจัยจากทีมจีน ซึ่งเขาจะบินตรงรวดเร็วเดียวมาจากปารีส แต่ทางเราไม่ไหวครับ จึงต้องหยุดพักในหลายเมือง
ผศ.ดร.อนุกูล: ของผมค่อนข้างด่วนครับ เตรียมตัวน้อย การเจรจากับจีนพึ่งเริ่มต้น ตอนนั้นก็พยายามเดินทุกวันเนื่องจากมีน้ำหนักมาก แต่ผลตรวจร่างกายปกติก็ผ่านไปสู่การเตรียมตัวเดินทาง ซึ่งของผมจะไปขึ้นเรือที่ประเทศนิวซีแลนด์ เมืองไครสต์เชิร์ช โดยเรือจะจอดรอที่นั่นเพราะมาเติมเสบียง ไปพร้อมกับทีมจีนที่ไปในเวลาใกล้เคียงกัน เราเดินทางกันเป็นอาทิตย์เพราะต้องเฝ้าระวังคลื่นลมและพายุตลอดเวลา ในเรือเราจะมีนักอุตุนิยมวิทยาประจำเรืออยู่ 1-2 คน เพื่อบรรยายและสรุปสภาพอากาศให้กัปตันเรือฟัง แต่ถ้ามีกรณีพิเศษจะมีการเรียกประชุมทั้งเรือ เพื่อเล่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเส้นทางข้างหน้าเพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวเพราะเป็นเรื่องอันตราย ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีดาวเทียมเข้ามาช่วย จึงทำให้การเดินทางปลอดภัยมากขึ้น
สภาพตอนอยู่ในเรือค่อนข้างที่จะมีความเครียด เวลาเราอยู่นานๆ เหมือนถูกจับในขังห้องเป็นเดือน ต่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก อาหารการกินที่ดี แต่ความเครียดก็เกิดขึ้นอยู่ดี อาทิตย์แรกยังพออยู่ได้ แต่อาทิตย์ต่อไปจะเกิดภาวะเครียดตามปกติ และที่สำคัญเราใช้โซเซี่ยวมีเดียไม่ได้ รู้สึกคิดถึงครอบครัว ก็จะเกิดความอัดอั้นอยู่ในใจ ซึ่งเขาก็เคยเตือนว่าให้เราฝึกสมาธิก่อนไป (หัวเราะ) อันนี้สำคัญมากครับ
ศ.ดร.สุชนา: ส่วนตัว โชคดีได้มีโอกาสไปขั้วโลกใต้ 2 ครั้ง และไปขั้วโลกเหนือ 3 ครั้ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่าน (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ได้มีโครงการขั้วโลกตามพระราชดำริ ส่งนักวิจัยไทยไปสำรวจกับจีนได้ปีละ 2 ครั้ง ตอนนั้นที่อาจารย์ได้ไปครั้งแรกกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางไปทางเรือ 1 เดือน อยู่ 2 เดือน และกลับด้วยเรืออีก 1 เดือน ดังนั้นจึงต้องฝึกร่างกายและจิตใจพอสมควร
ในครั้งที่ 2 ที่ไปกับจีนก็จะมีลักษณะคล้ายกับทุกคน และมีโอกาสได้ไปดำน้ำ เนื่องจากอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ทางทะเลยังไงก็ต้องขอดำน้ำ ซึ่งตอนไปกับญี่ปุ่น อาจารย์ขอไปดำน้ำ แต่ก็ถูกปฏิเสธเพราะเป็นผู้หญิง และมีเรื่องความปลอดภัยอื่นๆ แต่ตอนไปกับจีนได้รับอนุญาต จึงต้องกลับมาเตรียมตัวให้มากขึ้น อาจารย์ต้องกลับไปฝึกที่อเมริกาเพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับน้ำที่เย็นมากๆ เพราะการดำน้ำที่ขั้วโลก เรามีเวลาสำรวจแค่ 20 นาทีเท่านั้น เพราะอุณหภูมิที่เย็นมากจะทำให้มือ-เท้าชาและเกิดอาการช็อคได้ ซึ่งส่วนนี้จึงเป็นสิ่งที่อาจารย์ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษเพื่อไปดำน้ำที่ขั้วโลก
รศ.ดร.พิษณุพงศ์: ผมปเส้นทางเดียวกันกับอาจารย์กิตติภพ ในส่วนการเตรียมตัวทุกท่านน่าจะเห็นตรงกันในเรื่องร่างกาย ผมเองก็พึ่งจะทราบเหมือนกันว่า สมรรถภาพร่างกายเราทำงานไม่เท่ากัน เช่น หูของผมเองมีการรับเสียงสองข้างไม่เท่ากัน ก็ลุ้นเหมือนกันว่าจะผ่านไหม (หัวเราะ) ก่อนไปตรวจเราก็ต้องมีการเตรียมร่างกาย หลังจากนั้นเราก็มาเตรียมความรู้ หาข้อมูลเบื้องต้น สำรวจสถานีวิจัยของแต่ละประเทศบนขั้วโลก เกี่ยวกับเรื่องประวัติของพื้นที่ที่เราจะไปว่ามีอะไรบ้าง
เรื่องน่าหนักใจของผมจะเป็นการเตรียมอุปกรณ์สำรวจทางธรณีวิทยา นั่นก็คือการขนส่งค้อนธรณี เนื่องจากเวลานำขึ้นเครื่องบินจะถือว่าเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง จึงต้องศึกษาเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของสายการบิน และต้องนึกถึงตอนกลับด้วย เพราะผมเป็นนักธรณีวิทยา ตัวอย่างส่วนใหญ่ของผมก็จะเป็นหินที่มีน้ำหนัก ต้องคิดว่าจะห่อกลับมาได้อย่างไรบ้าง
ศ.ดร.สุชนา: สเตชั่นที่เรามีโอกาสได้ไปคือ “Great Wall” ซึ่งเครื่องบินสามารถบินไปถึง แต่เราไม่สามารถบินตรงได้เพราะน้ำมันไม่เพียงพอ ถ้าเป็นสถานีชงชางหรือสถานีโชว์วะเครื่องบินจะไปไม่ถึง หรือต้องไปลงจอดจุดอื่นและเดินทางด้วยเรือ ซึ่งแต่ะละสเตชั่นจะมีการเข้าถึงที่ต่างกัน พาหนะที่พาเข้าไปก็ต่างกัน
การสำรวจ



ศ.ดร.สุชนา: ประเด็นหลักที่ไปสำรวจคือ ผลกระทบทำให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติธรรมชาติทางทะเล อย่างที่ทราบกันว่าที่แอนตาร์กติกามีชั้นน้ำแข็งที่หนามาก การที่ชั้นน้ำแข็งละลายจึงส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ดังนั้นจึงเกิดการสำรวจปริมาณน้ำแข็งเพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งส่วนตัวอาจารย์เองสำรวจเรื่องระบบนิเวศทางทะเล โดยเราพบพยาธิบนตัวปลาเพิ่มมากขึ้น และพบว่าการกินอาหารของปลามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น จากเดิมปลากินคริลล์ (Krill, เคย, กุ้งขนาดเล็ก) แต่หันไปกินปลาตัวเล็กๆ หรือปลาหมึกแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เพ่งเล็งอย่างมาก รวมถึงพบสาหร่ายและแมงกะพรุนที่ขั้วโลก นั่นหมายถึงอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นจนมีสิ่งชีวิตอื่นเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ขั้วโลก
ผศ.ดร.อนุกูล: ในการเดินทางเพื่อเข้าไปในแอนตาร์กติกาค่อนข้างใช้เวลาอยู่พอสมควร เพราะคลื่นลมแรง มีลมพัดอยู่รอบตัวเพราะไม่มีแผ่นดินกำบัง และมีคลื่นสูง 3 – 6 เมตร ทำให้สภาพเรือโครงจนไม่สามารถทำงานได้ เบื้องต้นผมเป็นนักสมุทรศาสตร์จึงได้เดินทางทางทะเล จุดประสงค์ที่ไปตอนนั้นคือการสังเกตการจมตัวของมวลน้ำ โดยน้ำในโลกนี้จะหมุนเวียนถึงกันได้ กระแสน้ำที่อยู่บนผิวน้ำเกิดขึ้นจากลมพัด เกิดเป็นรูปแบบการไหลของกระแสน้ำตามทิศทางของลม เมื่อกระแสน้ำไหลไปยังบริเวณขั้วโลกที่มีความเย็นสูง ความหนาแน่นก็จะเพิ่มขึ้น และเกิดการจมตัว
การจมของน้ำจะพาแก๊สต่างๆ จมลงไปด้วย รวมถึงคาร์บอนไดร์ออกไซด์ อาจจะเป็นรูปแบบของแก๊สที่ละลายน้ำโดยตรง หรือผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงจากแพลงตอนชนิดมีเปลือกที่ดึงคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามากักเก็บในตัว เมื่อน้ำจมตัวลง ก็จะนำพาสิ่งเหล่านี้ลงไปสู่ใต้ทะเลลึกด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการลดโลกร้อนในวิธีการของธรรมชาติ เรามีความกังวลว่าเมื่อโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ความหนาแน่นของน้ำต่ำลง ทำให้อัตราความเร็วในการจมตัวของน้ำต่ำลงด้วย ซึ่งหมายความว่า อัตราในการดึงคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปกักเก็บด้านล่างมหาสมุทรก็จะน้อยลงเช่นกัน
รศ.ดร.พิษณุพงศ์: ปีที่ผมไปเป็นปี 2560 เป็นเรื่องของธรณีวิทยา โดยจะเข้าไปดูว่าแอนตาร์กติกามีธรณีวิทยาเป็นอย่างไรบ้าง โดยเรื่องหลักจะเป็นเรื่องของแผ่นเปลือกโลก หรือหินบริเวณนั้น โดยปกติแล้วจะมีหิมะปกคลุมและมีพื้นตระกูลต่ำเกิดขึ้น ไม่มีไม้ยืนต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินภูเขาไฟ และเราค้นพบว่าในชั้นหินภูเขาไฟมีฟอสซิลต้นไม้ใหญ่ ประมาณ 1-2 ค้นโอบอยู่ในหิน แสดงว่าในช่วงเวลาหนึ่งของแอนตาร์กติกามีภูมิอากาศอบอุ่น
พ.อ.รศ.ดร.กิตติภพ: สำหรับของผมจะเป็นหัวข้อธรณีวิทยา ซึ่งเกิดจากทูลกระหม่อมอาจารย์ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) เรื่องที่ไปสำรวจคือเรื่องการคายระเหยและการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ ซึ่งเราใช้ดาวเทียมนำทางระบบ GSS ในการระบุตำแหน่ง หาข้อมูล และติดตั้งตามจุดต่างๆ ในสถานี Great Wall โดยผมศึกษาเรื่องการคายละเหยในดิน และเก็บดินมาทำสารปนเปื้อนด้านสิ่งแวดล้อม โดยทำวิจัยร่วมกับหลายสถาบัน เราเก็บข้อมูลเพิ่มเติมและขอข้อมูลจากจีนย้อนหลัง 5-10 ปีด้วย เพื่อศึกษาเรื่องชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ และไอโอโนสเฟียร์ที่มีรังสีคอสมิคส่องเข้ามายังโลก ซึ่งตอนนี้
การค้นพบ
ผศ.ดร.อนุกูล: ระหว่างไทยกับแอนตาร์กติกามีความสัมพันธ์กันหลายเรื่อง เช่น น้ำแข็งที่แอนตาร์กติกาละลายมีผลต่อการเพิ่มสูงของระดับน้ำทะเล รวมถึงการขยายตัวของอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลกรวมถึงประเทศเราด้วย และอาจนำไปสู่การวิเคราห์เรื่องย้ายเมืองหลวงในหลายประเทศ ซึ่งแอนตาร์กติกาเป็นที่แรกที่จะได้รับผลกระทบ โดยเราสามารถศึกษาและคาดเดาได้จากที่นั่นครับ
พ.อ.รศ.ดร.กิตติภพ: หากเราเชื่อมโยงปัญหามายังประเทศไทย จะพบว่าระดับความสูงของกรุงเทพฯ จากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 1.5 เมตร และแตกต่างกันไปในแต่ละเขต ถ้าแอนตาร์กติกามีการละลายมากกว่าการพอกตัว จะส่งผลต่อที่ตั้งเมืองที่มีระดับต่ำ โดยในเมืองหลวงของแต่ละประเทศมักจะตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจกับการละลายของน้ำแข็งในแต่ละรอบปี
ศ.ดร.สุชนา: เนื่องจากโลกหมุนและมีลมพัด ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปกระจุกตัวอยู่ที่ขั้วโลก จึงทำให้ผลกระทบมันปรากฏชัดที่ขั้วโลก แม้กระทั่งมลพิษทางน้ำ อย่างเช่นขยะในน้ำ เราพบขวดผงซักฟอกที่ขั้วโลกแล้ว เหมือนกับภาชนะรองรับของเสียของโลก จึงเป็นที่แรกที่เห็นผลกระทบก่อนที่เราจะเห็นในพื้นที่ของเรา
สัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนอกจากกุ้ง หอย ปู ปลา ที่แอนตาร์กติกาแล้ว ก็ยังมีเพนกวินที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เนื่องมาจากปัจจุบันน้ำแข็งละลาย การหาอาหารลำบาก ทำให้เกิดสถานการณ์เพนกวินทิ้งตัวอ่อนและไข่ออกไปหาอาหาร ซึ่งส่งผลต่ออัตราการรอดของเพนกวินที่มีเพียง 10% จาก 50% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีหมีขาวที่เราไปพบอยู่ที่หน้าผา มีลักษณะผอมแห้งจนคล้ายสุนัขสีขาวมาพร้อมกับลูก กำลังกินหญ้าหรือมอสอยู่ริมหน้าผา เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งละลาย หมีขาวจึงไม่สามารถว่ายน้ำออกจากฝั่งไปไกลเพื่อไปหาแมวน้ำได้
รศ.ดร.พิษณุพงศ์: จากที่เคยกล่าวว่าในพื้นในแอนตาร์กติกาเคยเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ ข้อมูลของผมจะเป็นข้อมูลการเรียนรู้ในอดีต ว่าในช่วงเวลาหนึ่งเคยมีภูเขาไฟ ต้นไม้ และพืชอื่นๆ ทำให้รู้ว่าแอนตาร์กติกาเคยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น ซึ่งมันก็สามามารเปลี่ยนแปลงกลับไปอบอุ่นอีกได้
การวิจัย
ผศ.ดร.อนุกูล: หลังจากที่ได้ไป เรากลับมาคิดและคิดมากขึ้น มุมมองโลกเปลี่ยนไปมาก อย่างเช่นผมอาจจะมองการทำวิจัยในประเทศไทยอย่างเดียว แต่หลังจากนี้จะมีมุมมองความเชื่อมโยงของโลกนี้มากขึ้น น้ำแข็งในแอนตาร์กติกานั้นจะมีรูพรุนมาก เกิดจากการแทรกตัวของเกลือ ซึ่งน้ำแข็งจะคอยขับเกลือทิ้งเป็นชั้นจนเกิดเป็นน้ำเกลือเข้มข้นรอบน้ำแข็ง รูพรุนเหล่านี้สำคัญมากครับ เพราะสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่น แพลงตอน อะตอมจะอาศัยอยู่ในรูนี้ ตอนที่ผมนั่งเรือเข้าไปผ่านรอยแตก ผมเห็นน้ำแข็งที่สกปรกคล้ายกับมีดินเปื้อนอยู่ นั่นคือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลาและกุ้งขนาดเล็ก ถ้าน้ำแข็งน้อยลงเรื่อยๆ บ้านของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะหายไป ภาพรวมขนาดใหญ่ก็จะมีผลกระทบไปด้วย ซึ่งยังไม่ได้รวมเรื่อง Carbon capture หากจะทำงานวิจัยต่อน่าจะเป็นเรื่องแนวนี้ครับ
รศ.ดร.พิษณุพงศ์: ด้านธรณีวิทยาจะเป็นเรื่องของหินที่อยู่ในบริเวณนั้น เราสามารถทราบประวัติและสามารถสืบค้นเชื่อมโยงไปถึงทรัพยากรอื่นๆ ในพื้นที่ได้ เมื่อตอนประเทศมหาอำนาจเข้าไปจับจองพื้นที่โดยที่ยังไม่มีข้อมูลบริเวณนั้น แต่ตอนนี้น่าจะพอมีข้อมูลแล้วและทราบว่าบริเวณไหนมีทรัพยากรอะไร เช่น อัญมณี น้ำมัน แร่ธาตุหายาก ซึ่งจะเป็นประเด็นในเรื่องของทรัพยากรในแอนตาร์กติกาในอนาคต หากวันหนึ่งมนุษย์จำเป็นต้องใช้แร่ธาตุหายากในการพัฒนาเพื่อการดำรงชีวิต แอนตาร์กติกาอาจจะสามารถเป็นแหล่งสำรองได้
ในเรื่องของภูมิอากาศจะสัมพันธ์กันกับหินที่เกิดขึ้นในยุคใหม่ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัฏจักรอย่างไรบ้าง เนื่องจากยุคก่อนไม่ได้มีมนุษย์เป็นตัวเร่ง จึงสามารถใช้เทียบได้ว่าช่วงการเกิดเหตุการณ์ซ้ำจะมีช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ถ้าปัจจุบันกำลังมีช่วงผิดเพี้ยนไปจากอดีต เราต้องระวังหรือป้องกันอย่างไรบ้าง ก็จะเรื่องข้อมูลของหินและตะกอนครับ
ศ.ดร.สุชนา: ทางทีมของอาจารย์ศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาขยะ ศึกษาว่าตอนนี้ขยะมันไปถึงที่นั่นแล้วมีผลกระทบอย่างไร ทุกท่านน่าจะรู้จักไมโครพลาสติกหรือขยะชิ้นเล็กที่แตกตัวระดับไมโคร ซึ่งเราก็กำลังศึกษาอยู่ว่าการสะสมไมโครพลาสติกในขั้วโลกเหนือ-ใต้และสัตว์ที่อาศัยในบริเวณนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ในประเทศไทยตอนนี้ อาจารย์ทำเรื่องการเพาะปะการังให้มีประสิทธิภาพ สามารถทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปด้วย
สุดท้ายอยากฝากไว้ว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด มนุษย์มีสัญชาตญาณที่ว่า “ถ้าไม่เห็นต่อหน้า จะไม่รู้สึกอะไร” ไม่ใช่แค่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของอาหารด้วย ลองคิดเป็นลำดับ ดังนี้ ถ้าอากาศเปลี่ยนแปลง-ความมั่นคงของอาหารก็ไม่มี-มีการแก่งแย่งทรัพยากรมากขึ้น-ผลที่ตามมาคือสงครามและความอดยาก เริ่มจากช่วยกันคนละเล็กน้อยโดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งหลายท่านทราบอยู่แล้วว่าเราจะช่วยโลกกันได้อย่างไรบ้าง