ข่าวสาร

จุฬาฯ มหิดล ร่วมศึกษาดูงาน การส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย สวทช.

S__14680241_0

จุฬาฯ มหิดล ร่วมศึกษาดูงาน การส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย สวทช.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานฝ่ายพัฒนาคุณภาพและจริยธรรมจริยธรรมการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม Four South Board Room ชั้น 4 อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ คณะศึกษาดูงานของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย โดยคณะผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย ดร.อัจฉริยา อักษรอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิจัย และนางสาวบงกช หงสะพัก ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมคุณภาพและเผยแพร่งานวิจัย และคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.โธมัส กวาดามูซ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ และ ดร.บุษรี ฐิตาภิวัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย

ในการนี้ คณะผู้แทนจากทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ร่วมฟังบรรยาย ศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรในด้านจริยธรรมการวิจัย ณ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย สวทช. บรรยายโดย คุณฐิติวรรณ เกิดสมบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย สวทช. เกี่ยวกับการทำหน้าที่เสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาการวิจัยอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษากระบวนการดำเนินงานด้านจริยธรรมการวิจัย ในการรับข้อร้องเรียนพฤติกรรมมิชอบทางการวิจัย (Research Misconduct) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสืบสวนและพิจารณา ช่องทางการแจ้งเบาะแสทางออนไลน์ผ่านระบบ NSTDA Whistleblowing System และการแจ้งเรื่องร้องเรียนด้วยตนเอง ณ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย สวทช.

ทั้งนี้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานงานวิจัยด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักวิจัยที่ทำการศึกษาวิจัย และอาจารย์นักวิจัยที่ต้องการทำวิจัย จึงมีประกาศนโยบายด้านจริยธรรมด้านงานวิชาการและงานวิจัย ดังนี้

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยึดถือมาตรฐานสูงสุดของจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยที่จัดทำโดยบุคลากรและนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในด้านกระบวนการทำงาน และการสื่อสารหรือเผยแพร่ผลงาน
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสรรทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยของบุคลากรและนิสิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน
  3. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจในการให้ความรู้ เสริมสร้างจิตสำนึก และสร้างความตระหนักรู้ด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยแก่บุคลากรและนิสิต
  4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดให้มีกลไกในการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยุติธรรม
  5. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดให้มีความร่วมมือในการทำงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง