เสวนา “เปิดมุมมองคุณภาพวารสาร Open Access บนเส้นทางสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย”
เมษายน 25, 2024 2024-04-25 17:59เสวนา “เปิดมุมมองคุณภาพวารสาร Open Access บนเส้นทางสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย”

เสวนา “เปิดมุมมองคุณภาพวารสาร Open Access บนเส้นทางสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย”
เวลา 9.00 น. ของวันที่ 7 มีนาคม 2567 สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาในหัวข้อ “เปิดมุมมองคุณภาพวารสาร Open Access บนเส้นทางสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย” ณ ห้องประชุม ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนาว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ต้องการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยการพยายามขับเคลื่อนและสร้างแนวทางเดินหน้างานวิจัยให้มีผลกระทบอย่างแท้จริงซึ่งในวันนี้ท่านวิทยากรทุกท่านได้พยายามเก็บรวมรวมข้อมูลหลากหลายรูปแบบเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยเพิ่มข้อมูลในการตัดสินใจ และช่วยกำหนดทิศทางบางอย่างเพื่อให้นักวิจัยได้นำไปพิจารณาและเลือกใช้อย่างเหมาะสม”
การเสวนา “เปิดมุมมองคุณภาพวารสาร Open Access บนเส้นทางสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย” ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นักวิจัยพันธมิตร คณะอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยพันธมิตร ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ศาสตราจารย์ ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ กล่าวถึง Open Access ในแง่ผลประโยชน์ทับซ้อนของสำนักพิมพ์ที่นักวิจัยจะต้องศึกษาข้อเสนอและรู้เท่าทันกติกาของวารสารอยู่เสมอ และพิจารณาก่อนตีพิมพ์ทุกครั้ง เพราะการส่งบทความตีพิมพ์กับวารสารที่ไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลเสียต่อทรัพยากรและสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตนเองในอนาคตได้
รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม กล่าวถึงบทบาทมหาวิทยาลัยในการให้การสนับสนุนว่า “มหาวิทยาลัยยังคงให้การสนับสนุนในเรื่อง Subscribe และการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวารสารต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตการสนับสนุนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยยังคงยึดในบทบาทหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยจะต้องจัดหาเครื่องมือและวารสารที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้งานวิจัยของบุคคลากรดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น”
ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ให้ข้อแนะนำสำหรับอาจารย์รุ่นใหม่ในข้อกังวลเกี่ยวกับการตีพิมพ์บทความในวารสาร โดยให้พิจารณาจากวารสารคุณภาพที่เคยได้ศึกษาตามคำแนะนำของอาจารย์หรือเคยได้เป็นอ่านในระหว่างการศึกษา โดยต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพยายามตีพิมพ์ผลงานในวารสารที่มีคุณภาพ และหมั่นเข้าร่วมการเสวนาทางวิชาการเพื่อให้ตนเองเป็นที่รู้จักในแวดวงสาขาวิชาชีพ โดยต้องระมัดระวังการเสวนาวิชาการที่เข้าข่ายหลอกลวงด้วยเช่นกัน
ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ เกี่ยวกับการเลือกตีพิมพ์บทความในวารสารที่มีคุณค่าในแวดวงวิชาชีพที่ตนเองศึกษาและให้ความสนใจมากกว่าวารสารที่มีชื่อเสียง และไม่ย่อท้อต่อการเผยแพร่ความรู้ที่มีประโยชน์ไปสู่สาธารณะ
สำนักบริหารวิจัย ให้ความสำคัญและคุณค่าในการทบทวนและสนทนาเกี่ยวกับความท้าทายในแวดวงการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการ เพื่อให้บริการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และมุมมอง ต่อประเด็นสถานการณ์และบริบทที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการในรูปแบบ Open Access ซึ่งนับเป็นความท้าทายของนักวิจัยที่ต้องตระหนักและตื่นตัวกับกระบวนการเผยแพร่ผลงานวิชาการ โดยมีวิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมพูดคุย นำเสนอ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ให้กับนักวิจัยและแวดวงวิชาการในการเสริมสร้างมาตรฐานและคุณภาพงานวิชาการและงานวิจัย
ติดตามชม เสวนา “เปิดมุมมองคุณภาพวารสาร Open Access บนเส้นทางสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย” ย้อนหลัง (คลิก)
*ขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าชมสำหรับบุคคลากรภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น และงดเผยแพร่สู่สาธารณะ
**กรุณา login ด้วย CU Authen เพื่อรับชมวีดีโอ


