โครงการอบรม “How to Write a Winning Proposal”- Financial Feasibility Study
กรกฎาคม 4, 2024 2024-07-04 17:07โครงการอบรม “How to Write a Winning Proposal”- Financial Feasibility Study

โครงการอบรม “How to Write a Winning Proposal”- Financial Feasibility Study
เมื่อเวลา 9.00 น. ของวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “How to Write a Winning Proposal” เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุน บพข. ณ ห้อง Komes 1 โรงแรมชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร พิชยดนย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดช่วงให้คำปรึกษาการใช้เครื่องมือ TAM SAM SOM Analysis (Total Addressable Market, Serviceable Addressable Market, Serviceable Obtainable Market) เพื่อกำหนดทิศทางงานวิจัยให้สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ







คุณสายัณห์ ไวรางกูร ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แบ๊คสเตอร์ จำกัด ศูนย์พัฒนาธุรกิจ Startup ครบวงจร บรรยายในหัวข้อ “Financial Feasibility Study” ปรับมุมมองการวิเคราะห์การตลาดในงานวิจัยให้สามารถสร้างผลกำไรและสามารถหมุนเวียนในวงการธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการยื่นข้อเสนอโครงการกับหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัย โดยใช้ 4 ตัวชี้วัดทางการเงินในการพิจารณา ได้แก่ ระยะเวลาการคืนทุนที่จะสร้างผลตอบแทน อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่ายเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุน มูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสดที่ได้จากโครงการตลอดช่วงระยะเวลาวางแผน และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
“การวางโครงสร้างการเงินให้กับโครงการวิจัย ควรลองวางแผนในเบื้องต้นก่อน และร่วมมือกับนักการตลาดในการวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของกำไร-ขาดทุนก่อนการดำเนินการ” คุณสายัณห์ กล่าว
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “How to Write a Winning Proposal” เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้จัดทำข้อเสนอโครงการที่ตรงกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สามารถต่อยอดไปสู่การขอรับการจัดสรรทุนประเภท Strategic Fund รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจในการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตร