สัมมนาวิชาการด้านนวัตกรรมอาหาร “From Research Assets to IMPACT”
กันยายน 6, 2024 2024-09-06 16:58สัมมนาวิชาการด้านนวัตกรรมอาหาร “From Research Assets to IMPACT”
เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 6 กันยายน 2567 แพลตฟอร์มอาหารและการเกษตรเพื่ออนาคต (Chula Future Food Platform) จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “From Research Assets to IMPACT” โดยวิทยากรพิเศษจากประเทศสวีเดน ณ อาคารวิจัยจุฬาฯ ชั้น 2 ห้อง 201
ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการ “From Research Assets to IMPACT” โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Kjell-Håkan Närfelt, Chief Strategy Advisor จาก Vinnova หน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนด้านการพัฒนานวัตกรรม ประเทศสวีเดน ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเจาะลึกประสบการณ์ในประเด็น “Vinnova’s Role in Sweden’s Evolution as an Innovation Engine” การพัฒนาประเทศสวีเดนสู่ผู้นำด้านนวัตกรรม เบื้องหลังและการผลักดันจาก Vinnova, “Strategies for Turning Knowledge and Research Assets into Impact” กลยุทธ์ในการเปลี่ยนความรู้และสินทรัพย์งานวิจัยสู่ผลกระทบ เรียนรู้กลยุทธ์สำคัญในการนำงานวิจัยและความรู้ไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม การใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม และ “Role of Universities and Their Innovation Support System” บทบาทของมหาวิทยาลัยและระบบสนับสนุนนวัตกรรม สำรวจบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการบ่มเพาะนวัตกรรม ระบบสนับสนุนที่ช่วยนำงานวิจัยสู่ตลาดและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
สัมมนาวิชาการ “From Research Assets to IMPACT” จัดโดย แพลตฟอร์มอาหารและการเกษตรเพื่ออนาคต (Chula Future Food Platform) ร่วมกับหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมผู้ประกอบการ (CU TIP) บัณฑิตวิทยาลัย โดยความร่วมมือของ สำนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Research Chula) ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) และหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมผู้ประกอบการ (CU TIP) บัณฑิตวิทยาลัย




Chula Future Food Platform จัดตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงอาจารย์และนักวิจัยด้านอาหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เกิดเป็นความร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอาหารในระดับรากฐานการวิจัยให้มีคุณภาพทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ครอบคลุม 7 เป้าหมาย ได้แก่ การยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ การยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย การสร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้ สำหรับทุกคน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านเวทีการเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนจากวิทยากรพิเศษจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาหารอย่างยั่งยืน