ข่าวสาร

SiHub – บ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม Young Sustainability Practitioner รุ่นที่ 4

SiHub - บ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม Young Sustainability Practitioner รุ่นที่ 4

SiHub – บ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม Young Sustainability Practitioner รุ่นที่ 4

เมื่อวันที่เวลา 16.30 น. ของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Social Innovation Hub) ภายใต้การกำกับดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี  ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิจัย ร่วมกับบริษัท Tact Social Consulting จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานโมเดลนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มนิสิตและปิดฉากกิจกรรม “YOUNG SUSTAINABILITY PRACTITIONER” รุ่นที่ 4 พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่นิสิตที่ผ่านการอบรม ณ ห้องประชุมจุมภฎ พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “หลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม จาก CU-Sihub ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งมีนิสิตจากหลากหลายคณะและชั้นปีให้ความสนใจเสมอมา เราจัดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับนิสิตในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการที่มีแนวคิดในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Carbon Footprint การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต รวมถึงกระบวนการ Design Thinking ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่านิสิตของเรา จะนำทักษะที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นบุคลากรที่เป็นมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของสังคม”

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดี ด้านกิจการนิสิต รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ วรานุศุภากุล ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านกิจการนิสิต และ ศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Social Innovation Ecosystem in Thailand” เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ได้ทำความเข้าใจการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมในการแข่งขันจริงและการมองหาโอกาสทางความร่วมมือหรือการหาทุนสนับสนุนเพื่อต่อยอดโครงการต้นแบบให้เป็นกิจการจริงในอนาคต โดยมีโครงการที่ผ่านการอบรมและทดลองสร้างต้นแบบนวัตกรรมนำเสนอผลงาน เพื่อรับข้อแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 โครงการ ได้แก่ ThaiShare (Marketplace) ตัวกลางในการจับคู่ผู้ให้ยืมและผู้เช่าสำหรับผู้ประกอบการ, Read Spot: Application หาสถานที่อ่านหนังสือรอบจุฬา, Platform ช่วยผู้ประกอบการในการออก E-receipt, Platform สร้าง Awareness ในการเลือกซื้อสินค้าคาร์บอนต่ำ, Headphone ตรวจวัดระดับความเครียดจากคลื่นสมอง, ผู้ช่วยในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์, ศูนย์กลางรับซื้อผลผลิตและซากทางการเกษตรลดการเผาของเกษตรกร และ Greenify: แอปการเรียนรู้แยกขยะด้วย AI

หลักสูตรอบรมบ่มเพาะการประกอบการสังคม “Young Sustainability Practitioner” รุ่นที่ 4 เริ่มอบรมในช่วงเดือนกันยายน ถึงตุลาคม 2567 โดยวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงทั้งในด้านวิชาการและนวัตกรรม ผ่านหัวข้อการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ได้แก่ “Social Innovation with ESG” ปูพื้นฐานความเข้าใจด้านความยั่งยืนและการมองหาโอกาสในการพัฒนานวัตกรรม “Design Thinking for Social Innovation” เรียนรู้ทฤษฎีและเข้าใจการออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมกับประเด็นปัญหาใกล้ตัว “Circular Economy in Business Practice” เข้าใจความหมายและความสำคัญของ ‘EPR’ ในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง “Climate Change and Carbon Assessment” รับทราบต้นต่อ สาเหตุ ประเด็นปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก และเข้าใจพื้นฐานในการประเมินคาร์บอนสำหรับองค์กร (CFO) “The Crisis of Biodiversity Loss” เรียนรู้ปัญหาการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพจากกรณีศึกษา และ “Mental Health and Thai’s Economy issue” การเรียนรู้ปัญหาสุขภาพจิตไทยจากปัญหาเศรษฐกิจไทยและการรับมือต่อสถานการณ์ 

ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Social Innovation Hub) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักบริหารวิจัย จัดโครงการอบรมบ่มเพาะการประกอบการสังคมสำหรับนิสิตและกลุ่มวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมความสามารถและทักษะการเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรทางสังคม ที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) ปรับปรุงกระบวนการการทำงานให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านการพัฒนาต้นแบบเพื่อการทดลอง (Prototyping) การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจเพื่อสังคมและแผนธุรกิจเพื่อสังคม และการนำเสนอแผนดังกล่าวสู่กลุ่มเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสนใจ โดยมุ่งหวังว่าการบ่มเพาะเหล่านี้จะนำไปสู่การตอบโจทย์สังคม ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ โดยมีนิสิตที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการอบรมตามเกณฑ์จำนวน 202 คน จากทั้งหมด 4 รุ่น