บทความ

Hempa : เทคนิคทอผ้าสองด้าน สัมผัสใหม่จากเส้นใยกัญชง

cover

Hempa : เทคนิคทอผ้าสองด้าน สัมผัสใหม่จากเส้นใยกัญชง

ผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากเส้นใยธรรมชาติที่เหมาะกับสภาพอากาศที่หลากหลาย สู่การออกแบบเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงวัยญี่ปุ่น ด้วยแนวคิด BCG

ในวงการแฟชั่น ความงาม ความสดใหม่ และการแข่งขัน คือวัฏจักรที่หลายต่อหลายแบรนด์พยายามผลัดเปลี่ยนกันเป็นที่หนึ่ง แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิธธ์ สาดสังข์ ดุษฎีบัณฑิตจากสาขาวิชานฤมิตศิลป์แฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์จากสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ (แขนงวิชาการออกแบบแฟชั่น) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มองว่าเสน่ห์ของการทำเสื้อผ้าแฟชั่นยุคใหม่ ไม่ใช่แค่การคิดแรงบันดาลใจหรือตอบโจทย์กับคอนเซ็ปต์อะไรบางอย่างเพียงเท่านั้น แต่ต้องคิดไปถึงวัสดุ วิธีการใช้ และความต้องการผู้บริโภค เพื่อทำให้เสื้อผ้าเกิดความยั่งยืน มีความน่าสนใจ รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้กับสิ่งรอบตัวได้ โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในแนวคิด BCG

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิธธ์ สาดสังข์ รับรางวัลการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และ BCG Economy Model

“เราใช้โครงสร้างการทอแบบ double weave จากเส้นใย 3 เส้น ได้แก่ เส้นใยกัญชง (Hemp) เป็นเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นและมีความแข็งแรงสูง เป็นพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย เส้นใยเทนเซล (Tencel) เส้นใยเซลลูโลสจากธรรมชาติ ช่วยเพิ่มความเงางามให้กับเนื้อผ้า นุ่นลื่น เย็นสบาย ไม่ระคายเคืองกับผิว และเส้นใยฟิลลาเจน (Filagen) นวัตกรรมเส้นใยคอลลาเจนจากพืชและสัตว์ ให้สัมผัสนุ่มสบายระหว่างสวมใส่ จึงเกิดเป็นทางเลือกเส้นใยใหม่ที่น่าสนใจ สามารถสวมใส่ได้ทั้ง 2 ด้าน ในเฉดสีที่ต่างกัน เกิดเป็นลูกเล่นใหม่ๆ ให้กับการสวมใส่ได้ และใช้เทคนิคปูกาวเก็บขอบเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขอบผ้าลุ้ย ทำให้ผู้สวมใส่ได้สัมผัสกับเนื้อผ้ามากขึ้น รวมถึงลดการใช้ผ้ากาวซับในที่เป็นโพลีเอสเตอร์ได้” คุณสุวิธธ์กล่าว

นวัตกรรม “3 เส้นใย ทอ 2 ด้าน” ถูกพัฒนาเป็นผลิตแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ภายใต้แบรนด์ Hempa” ที่เจาะกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่น จากการสำรวจข้อมูลและศึกษาแนวทางการแต่งกายร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้บริโภคที่มีความเข้าใจต่อตลาดสิ่งทอเครื่องนุ่มห่มของประเทศญี่ปุ่น โดยพบว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นมีสไตล์การแต่งกายแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ Simplify เรียบง่ายแต่มีแบบแผนในการแต่งกาย Fashion Freak มีรสนิยมและยังชื่นชอบสีสันของแฟชั่น Traditional ขนบธรรมเนียมและวิถีดั้งเดิม และ Masculine วัยเก๋ามาดเท่ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีกำลังในการซื้อและมีฐานความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์การใช้ชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “ข้อมูลหนึ่งที่ได้จากการสัมภาษณ์คนญี่ปุ่น คือ เขามีความต้องการเสื้อผ้าที่นุ่มสบายระหว่างการสวมใส่ ต้องมีความคงทนแข็งแรง ซึ่งกัญชงเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นมากกว่าคอตตอนมาก รวมถึงกัญชงยังเป็นพืชที่มีประสิทธิภาพในการกันแมลงเสื้อผ้า สามารถจัดเก็บในตู้ได้โดยไม่ถูกปลวกหรือแมลงกัดกิน”

นอกจากเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์สวมใส่ คุณสุวิธธ์ยังมองว่าในการผสมเส้นใยจากนวัตกรรมนี้สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ Home life อาทิเช่น หมอนอิง โซฟา เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ที่มีความโดดเด่นในด้านการใช้กัญชงเป็นส่วนประกอบของเส้นใยมากกว่า 50% รวมถึงการใช้โทนสีธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเหมาะกับความเรียบง่ายสไตล์มินิมอลที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคย

เทคนิคการทอแบบตีเกลียวเส้นใย ได้ศึกษาทั้งแบบหัตถกรรมและอุสาหกรรมจนกลายเป็น “หัตถอุสาหกรรม” ที่ผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมแบบชาวม้งทั้งเทคนิคการทอ และการย้อมสีจากพืชท้องถิ่น เช่น หมากค้อ มะเกี๋ยง และกากกาแฟ เป็นต้น ซึ่งคำนึงถึงวิถีชีวิตกับธรรมชาติที่ต้องพึ่งพาหมุนเวียนกันไม่มีที่สิ้นสุด กอปรกับการเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่สามารถหมุนเวียนไปพร้อมกับวิถีชาวบ้านแบบเชื่องช้าได้ จึงศึกษาวิธีการทอแบบอุตสาหกรรม โดยมีต้นแบบมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดเป็นห่วงโซ่การผลิตใหม่ที่มีชุมชน นักออกแบบ และอุตสาหกรรม อยู่ในวงโคจรเดียวกันได้อย่างลงตัว

แม้เทคนิคการใช้เส้นใยจากธรรมชาติจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแฟชั่น แต่สำหรับการพัฒนาวัสดุในการผลิตถือว่ายังมีช่องทางหลากหลายให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้ท้าทายในการพลิกความเหมือนที่แตกต่างให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ ซึ่งคุณสุวิธธ์คิดถึงมุมมองผู้บริโภคแบบคนญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายทางฤดูกาล ให้ความคล่องตัว อบอุ่นและไม่อบอ้าว รวมไปถึงความงามที่คุ้มค่าในการสวมใส่ได้ทุกโอกาส เทคนิคการทอแบบ double weave จึงตอบโจทย์ในการนำเสนอความสวยงามของธรรมชาติ ในขณะที่ให้ความรู้สึกเบาสบายถนอมผิวพรรณของผู้สวมและการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่าแก่ผู้บริโภคได้อย่างลงตัว

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของ Hempa

“ในอนาคตอยากทำให้ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชงเป็นที่นิยม ผมมองว่าตลาดกัญชงมีราคาค่อนข้างสูง จึงมีแต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ถ้าอยากกระจายส่วนแบ่งทางการตลาดไปยังการส่งออกมากขึ้น ก็อาจจะต้องลดค่าใช้จ่ายลง แต่ช่วงแรกค่อนข้างยาก เหมือนกับเส้นใยอื่นๆ ที่มีจุดเริ่มต้นในราคาที่สูง ถ้าทำไปจนเกิดความคุ้นชิน หรือเกิดกระบวนการที่ง่ายขึ้น มีคนช่วยผลิตมากขึ้น ราคาก็จะลดลงและตอบโจทย์ตลาดได้ง่ายขึ้น เราจึงริเริ่มที่จะทดลอง เนื่องจากการผลิตเส้นใยที่หลากหลายค่อนข้างเป็นความท้าทาย ทั้งผู้ออกแบบและผู้รับผลิต” คุณสุวิธธ์กล่าวถึงความสนใจในการต่อยอดนวัตกรรมสิ่งทอโครงสร้างผ้า 2 ด้าน จากการผสมเส้นใยกัญชง เส้นใยเทนเซล และเส้นใยฟิลลาเจน ในอนาคต

ติดตามผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และ Home life จากเส้นใยกัญชงและเส้นใยธรรมชาติที่ได้ที่ Hempa
(IG: Hempa_official_th)

“ในสายแฟชั่น การทำวิจัยก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ด้วยตัวผมเองเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา การค้นหาวัสดุใหม่เป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่เราสามารถนำสิ่งเดิมมาพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งก็เหมือนกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป ซึ่งเรามองหาความน่าสนใจในการตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของการทำเสื้อผ้าแฟชั่นในยุคใหม่ ไม่ใช่แค่คิดแรงบันดาลใจหรือตอบโจทย์กับคอนเซ็ปต์อะไรบางอย่าง แต่เราคิดไปถึงวัสดุ วิธีการใช้ และผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เสื้อผ้าเกิดความยั่งยืนและสร้างความน่าสนใจได้เสมอ ด้วยเทคนิคและวัสดุที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิธธ์ สาดสังข์ (ดุษฎีบัณฑิต)

สาขาวิชานฤมิตศิลป์แฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ (แขนงวิชาการออกแบบแฟชั่น) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อาจารย์ที่ปรึกษา: ศาตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล