การประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ 7 (The 7TH RUN Summit) – จุฬาฯ One Health
กุมภาพันธ์ 11, 2025 2025-02-11 11:51การประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ 7 (The 7TH RUN Summit) – จุฬาฯ One Health

การประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ 7 (The 7TH RUN Summit) – จุฬาฯ One Health
เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ครั้งที่ 7 (The 7th RUN SUMMIT) ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Solutions for Tomorrow’s Thailand” โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ รีสอร์ท จังหวัดสุโขทัย
ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยทั้ง 8 มหาวิทยาลัย และมี ศาสตราจารย์ ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการวิจัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือและหาแนวทางการพัฒนางานวิจัยร่วมกันของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย โดยแบ่งเป็น 2 หัวข้อ ดังนี้
- หัวข้อ “Waste” ประกอบด้วยกลุ่ม Electronic Waste (รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น)
- หัวข้อ “Climate Change”ประกอบด้วยกลุ่ม Food Security: Productivity (รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) กลุ่ม One Health (คนและสัตว์) มุ่งเน้นโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ (รับผิดชอบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล) และกลุ่มการจัดการน้ำและฝุ่น PM5 (รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบหมายพัฒนาโจทย์วิจัยในหัวข้อ ‘One Health’ (คนและสัตว์) มุ่งเน้นโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดี รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. มรกต แก้วธรรมสอน คณะสัตวแพทยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กนก พฤติวทัญญู คณะแพทยศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.ธนิษฐา ฉัตรสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำเสนอหัวข้อการวิจัย 4 หัวข้อ ได้แก่
- หัวข้อ “การสร้างเครือข่ายการวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการตรวจวินิจฉัยและเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยแมลงจากสัตว์ป่าสู่คน” โดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มรกต แก้วธรรมสอน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์วิจัยไพรเมตแห่งชาติ
- หัวข้อ “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิธีการในการตรวจวินิจฉัย ควบคุม ป้องกันการอุบัติของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน ในวงจรการทำฟาร์มสัตว์น้ำเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียว” โดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- หัวข้อ “การแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในโรคที่เกิดจากอาหารเป็นสื่อด้วยแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวในระดับจีโนม” โดย อาจารย์ ดร.ธนิษฐา ฉัตรสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หัวข้อ “การประยุกต์ใช้ข้อมูล Metagenomics ในการเฝ้าระวังและควบคุมเชื้ออุบัติใหม่และเชื้ออุบัติซ้ำ ซึ่งสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนในกลุ่มแมลงดูดเลือดที่พบในประเทศไทย ตามหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กนก พฤฒิวทัญญู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
โครงการหลักสูตรอบรมสำหรับนักวิจัย “RUN for Real: Driving High Impact Research for Economic Growth and Better Living” จัดให้มีการนำเสนอโครงการวิจัยในรูปแบบ Pitching เพื่อคัดเลือกโครงการรับทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอโครงการวิจัย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
- โครงการ “Cello-gum” การสกัดและการดัดแปรแบคทีเรียเซลลูโลสจากเศษวุ้นมะพร้าวสู่การเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ : from Biotechnology to Bio-Economy การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานต้นแบบ” โดย ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ และคณะ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและ ปิโตรเคมี
- โครงการ “BioCraft: เครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติแบบครบวงจร” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา พนมเชิง และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์
นอกจากนี้ มีการประกาศผลกิจกรรม RUN FIT ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “Pop Run Fit Fest : รวมพลคน fit แบบ pop pop” โดยให้บุคลากรในเครือข่ายมหาวิทยาลัยร่วมแข่งขันและส่งผลการออกกำลังกายผ่านแอปพลิเคชัน Run-Hub NextVR ระหว่างวันที่ 7 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2568 (ระยะเวลา 1 เดือน) เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายและสร้างความผ่อนคลายระหว่างสมาชิกในเครือข่าย โดยจัดแบ่งทีมตามมหาวิทยาลัย ซึ่งในปี 2568 ทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผลรวมระยะทางการวิ่งอยู่ในอันดับ 2 ของการแข่งขัน
เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) เป็นการรวมกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อผลักดันการสร้างงานวิจัยข้ามศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ รวมถึงสร้างเสริมบรรยากาศที่ดีในการวิจัยระหว่างผู้บริหารในเครือข่ายฯ ประธานคลัสเตอร์ และบุคลากรสายสนับสนุนจากฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้ สร้างสรรค์ผลงานวิจัยต่อไปในอนาคต