Sit & Fit เบาะรองนั่งห่างโรคออฟฟิศซินโดรม
กุมภาพันธ์ 3, 2025 2025-02-11 19:09Sit & Fit เบาะรองนั่งห่างโรคออฟฟิศซินโดรม
ป้องกันก่อนเกิดโรค เสริมพลังให้ร่างกายทุกวันด้วยวิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ ที่ทำได้โดยไม่ต้องลุกจากเก้าอี้ ยิ่งนั่งนาน ยิ่งเหมือนได้ออกกำลังกายเบา ๆ ตลอดเวลา
เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน พนักงานชาวออฟฟิศมากกว่าครึ่งประเทศมักจะมีโรคประจำตัวเป็นอาการปวดหลัง ตึงไหล่ จำกัดการเคลื่อนไหวของคอ บางรายอาจปวดหัวเรื้อรัง เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหลังคอมีความตึงเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าหากพบอาการดังกล่าวก็ต้องขอแสดงความยินดีที่ท่านก้าวเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัวและเข้าข่ายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเงินเดือนส่วนใหญ่จะถูกโอนไปยังคลินิกกายภาพบำบัด หมอฝังเข็ม และร้านนวดแผนโบราณเป็นประจำอย่างแน่นอน
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปกับการรักษาพยาบาล จะดีกว่าหรือไม่? หากเราสามารถป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมได้ ตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค ด้วยวิธีการง่าย ๆ แบบไม่ต้องลุกไปไหน ยิ่งหากคุณจำเป็นต้องนั่งนาน ก็ยิ่งเหมือนได้ออกกำลังกายเบา ๆ ตลอดเวลา คุณศิรินันท์ จันทร์หนัก ดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผันตัวจากผู้ประสบภัยปวดคอ บ่า หลัง สู่การเป็นนักวิจัยเบาะรองนั่งสุขภาพ “ซิตแอนด์ฟิต” เพื่อป้องกันโรคปวดคอและปวดหลังในผู้ที่นั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน (โรคออฟฟิศซินโดรม) จนคว้ารางวัลการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษาระดับดีมาก (บัณฑิตศึกษา) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ที่ผ่านมา
“เบาะรองนั่งสุขภาพ ‘ซิตแอนด์ฟิต’ ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยส่งเสริมการขยับตัวในระหว่างการนั่ง พร้อมกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงานมากขึ้น ใช้งานง่าย นั่งสบาย พกพาสะดวก โดยภายในถุงลมได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้มีปริมาณลมที่เหมาะสม ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยับตัวในระดับที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนที่มีอาการปวดคอและปวดหลัง มักจะมีการขยับตัวน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงพัฒนานวัตกรรมนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยับตัวในระหว่างการนั่ง” คุณศิรินันท์กล่าว พร้อมสาธิตวิธีการใช้งาน
จุดเริ่มต้นของอาการปวด คือการจดจ่ออยู่กับการนั่งทำงานเป็นเวลานาน จนไม่มีการขยับตัวหรือละจากการลุกเพื่อเดินไปไหนสักที่ ดั่งคำเปรียบเปรยที่ว่า “รากงอก” อยู่บนเก้าอี้ในท่าคอยื่น ห่อไหล่ หลังค่อม จึงส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าสะสม จนเกิดอาการปวด ซึ่งเบาะรองนั่งสุขภาพ “ซิตแอนด์ฟิต” ช่วยตัดวงจรการนั่งนิ่งเป็นเวลานานได้ โดยให้ความรู้สึกเหมือนการนั่งบนลูกบอลโยคะ แต่มีความลาดชันน้อยกว่า ถุงลมจะผ่อนลมตามการนั่งทิ้งตัวให้สอดรับกับสรีระสะโพกและก้นของผู้นั่ง ส่งเสริมให้เกิดการขยับตัวซึ่งทำให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมีความแข็งแรง ทนทาน เสมือนออกกำลังกายเบาๆ ในที่ทำงาน
คุณศิรินันท์ยังกล่าวต่อไปว่า เบาะรองนั่งสุขภาพ “ซิตแอนด์ฟิต” ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยให้อาสาสมัครทดลองนั่งบนเบาะรองนั่งนี้ เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง พบว่า มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมให้เกิดการขยับตัวในขณะนั่งในระดับที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และกระตุ้นให้เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวเพิ่มขึ้น สามารถลดระดับความรู้สึกไม่สบายบริเวณคอและหลังได้ และไม่รบกวนการทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใช้เบาะรองนั่ง นอกจากนี้ ยังได้รับความพึงพอใจ ความรู้สึกสบาย และความรู้สึกเหมาะสมกับสรีระจากกลุ่มตัวอย่าง ในการใช้เบาะรองนั่ง “ซิตแอนด์ฟิต” เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง โดยให้คะแนนในระดับดีถึงดีมาก หลังจากนั้น จึงได้ทำการทดสอบเบาะรองนั่งสุขภาพ “ซิตแอนด์ฟิต” ในกลุ่มพนักงานสำนักงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคปวดคอและหลัง จาก 7 สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อติดตามการเกิดโรคปวดคอและหลังในรอบ 6 เดือน พบว่า กลุ่มที่ใช้เบาะรองนั่ง “ซิตแอนด์ฟิต” เกิดโรคปวดคอและหลัง ลดลงกว่า 80% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และพบว่า ภายหลังการใช้งานเป็นระยะเวลา 6 เดือน กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมีความทนทานมากขึ้นอีกด้วย
เบาะรองนั่ง “ซิตแอนด์ฟิต” เป็นนวัตกรรมที่รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ระดับปริญญาเอก ที่ผู้ร่วมทุนหลัก คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมทั้งมีการร่วมทุนบางส่วนจากภาคอุตสาหกรรม คือ บริษัท ศรีไทย โอโตซีทส์ อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เบาะภายในรถ เบาะรองนั่ง และเก้าอี้สุขภาพ รวมถึงเอื้อเฟื้อการผลิตถุงลมที่ใช้ในการทดสอบ จนทำให้เบาะรองนั่ง “ซิตแอนด์ฟิต” มีรูปแบบที่การใช้งานที่หลากหลาย สามารถใช้ร่วมกับเก้าอี้สำนักงานทั่วไป หรือปรับใช้กับสถานที่ที่ต้องมีการนั่งนาน ๆ อาทิเช่น รถยนต์ เครื่องบิน โรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่การนั่งสมาธิ
“กลุ่มเป้าหมายที่อยากจะต่อยอดในอนาคต จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มผู้ที่เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว เนื่องจากเราได้ข้อมูลแล้วว่าในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดีสามารถป้องกันอาการได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดอยู่แล้ว เรายังต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าการใช้เบาะรองนั่ง “ซิตแอนด์ฟิต” จะสามารถช่วยฟื้นฟูได้มากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้ อาจมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการต่อยอดอุปกรณ์รองบริเวณหลังด้วย ซึ่งอาจจะเป็นงานวิจัยในอนาคตต่อไป” คุณศิรินันท์กล่าว
ถ้าชีวิตการ Work จะไร้ Balance ก็ต้องมีตัวช่วยที่เข้ามาเสริม! ในเมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งนิ่งนาน ๆ ไม่ได้ ก็ต้องมองหาตัวช่วยที่ออกแบบมาเป็นพิเศษอย่าง “ซิตแอนด์ฟิต” เพื่อชาวออฟฟิศทุกท่าน แต่อย่างไรเสีย แม้จะมีตัวช่วยดีแค่ไหน ก็คงไม่มีสิ่งใดดีไปกว่าการลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายทุก ๆ 30 นาที เพราะแค่ขยับ ก็เท่ากับออกกำลังกาย บ่าที่ตึงเกร็งอยู่ก็จะได้ผ่อนลงบ้างไม่มากก็น้อย
ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
- พญ.วันทนียา วัชรีอุดมกาล. (2565). โรคออฟฟิศซินโดรมคืออะไร เป็นแล้วต้องรักษาด้วยวิธีใด?. จากเว็บไซต์โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (https://thainakarin.co.th/article-from-doctor/how-to-fix-office-syndrome/)
- โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ kdms – ข้อดีมีสุข. (2564). ออฟฟิศซินโดรม หายได้ด้วยศาสตร์ผสมผสานการรักษา. (https://kdmshospital.com/article/office-syndrome-posture/)

“อยากเชิญชวนให้หันมาให้ความสำคัญกับงานวิจัยในเชิงป้องกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมก่อนที่จะเกิดโรคค่ะ เพราะการป้องกันก่อนเกิดโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด การรักษาหลังจากโรคเกิดขึ้นแล้ว มักจะยากที่จะฟื้นคืนสภาพให้เหมือนเดิม ดังนั้น การมุ่งเน้นศึกษานวัตกรรมหรือแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนได้มากขึ้นค่ะ”
คุณศิรินันท์ จันทร์หนัก (ดุษฎีบัณฑิต)
จากภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ศาตราจารย์ ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล