ข่าวสาร

สัมมนาต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

IMG_3238

สัมมนาต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

เมื่อเวลา 9.00 น. ของวันที่ 7 มีนาคม 2568 โครงการจัดทำแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการจริงกับเครือข่ายวิจัยนานาชาติสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ณ ห้องพื้นที่การแสดงและกิจกรรม นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

คุณปัทมนิธิ เสนาณรงค์ หัวหน้าฝ่ายนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ กล่าวว่ามีความยินดีที่ได้สนับสนุนทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ENSA-Paris Belleville ที่มีความร่วมมือในการทำวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์อัตลักษณ์ของความเป็นชาติไทย และเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของชุมชนให้มีคุณค่าและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย หัวหน้าโครงการฯ และหัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อคัดกรองมรดกเมืองสามัญผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และจัดทำต้นแบบแผนที่มรดกด้วยนวัตกรรม นำไปสู่การนำเสนอคุณค่าของมรดกเมืองสามัญที่สามารถขยายไปสู่สินค้าและบริการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ “มรดกในความหมายของเราไม่ได้มองแค่สิ่งที่หายากเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเรื่องราว การส่งต่อ และการสืบสานมรดกในชุมชม โดยการวิจัยต้องการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาหารและพื้นที่ศักดิ์รอบชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยมีใครบันทึกไว้ เราจึงพยามหาแนวทางในการบอกเล่าและสร้างคุณค่าเพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเข้ามาสำรวจพื้นที่และเก็บฐานข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต”

รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านวิจัย กล่าวขอบคุณการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งชุมชนเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร และภาคีนักวิจัยจากสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่เปิดโอกาสให้นิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่จริง ได้รับโจทย์การเรียนรู้นอกห้องเรียน ในลักษณะพื้นที่ทดลองปฏิบัติการจริง (Living Lab) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจัย “Quickwin” โดยสามารถบูรณาการระหว่างการวิจัยและการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครมีนโยบาย ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจระดับย่าน ตลอดจนการดึงอัตลักษณ์ย่านต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเพื่อนำมาต่อยอดในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน และต่อยอดไปสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้ต่อยอดการวิจัยจากการรวบรวมข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นของชุมชน หรือมรดกเมืองสามัญในกรุงรัตนโกสินทร์ไปประยุกต์ใช้เป็นแผนที่ด้านอาหารในชีวิตประจำวันและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่มีความเสี่ยงจะสูญหายให้มีคุณค่าและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม”

โครงการจัดทำแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการจริงกับเครือข่ายวิจัยนานาชาติสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ปีงบประมาณ 2567 ภายใต้โครงการ “Quickwin” ของสำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม โดยการนำเสนอต้นแบบการจัดทำแผนที่มรดกเมืองสามัญของเกาะรัตนโกสินทร์ในด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผ่านการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส (ENSA-Paris Belleville) ในรูปแบบกระบวนการเรียนรู้พื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการ (Living Lab) ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาชุมชนและสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม ในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของย่าน