สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ
จริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ จริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย

นักวิจัยเริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง…จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนที่จะผลิตผลงานวิจัย วิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Real-world Impact Innovation) และบ่มเพาะนิสิตและนวัตกรรมชั้นนำรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการทำงานวิจัยที่ถูกต้องควบคู่ไปกับจริยธรรมของนักวิจัย ซึ่งถือเป็นอีกภารกิจอีกด้านหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ในด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญของนักวิจัยภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้เป็นหลักการใช้การทำวิจัย ทั้งช่วงก่อนทำวิจัย ระหว่างทำวิจัย และหลังทำวิจัย เพื่อสร้างเสริมให้งานวิจัยมีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานงานวิจัยด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยซึ่งนักวิจัยเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำวิจัย และอาจารย์นักวิจัยที่ต้องการทำวิจัยเพื่อตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรมงานวิชาการและงานวิจัยขึ้น เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการจัดทำนโยบายมาตรฐานการปฏิบัติงาน

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประชาคมจุฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์ นักวิจัย และนิสิตในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่จำเป็นต้องทำความรู้จักกับ “จริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย” หากละเลยหรือเพิกเฉยอาจจะทำให้งานวิจัยของท่านเข้าข่ายการละเมิดจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็เป็นได้

เราจึงปรารถนาให้ทุกท่านได้เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อทั้งนักวิจัยรุ่นใหม่ และนักวิจัยระดับมืออาชีพในการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงสุดและเป็นงานวิจัยที่ยกระดับมาตรฐานเทียบเท่างานวิจัยระดับสากล เพื่อความภูมิใจและความน่าเชื่อถือของสายอาชีพนักวิจัยภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะกรรมการประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แต่งตั้งโดยอธิการบดี และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการบดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองให้เกิดมาตรฐาน ความเป็นธรรมและคุณภาพที่ดี ในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและผลงานวิจัยที่ดำเนินการภายใต้การควบคุมของมหาวิทยาลัย

คณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องร้องเรียนการเผยแพร่ผลงานวิชาการหรือผลงานวิจัยของนิสิตหรือบุคลากร ที่มีลักษณะเป็นการกระทำผิดจริยธรรม ดังนี้

  • การสร้างข้อมูลโดยมิได้เกิดขึ้นจริง (Fabrication)
  • การดัดแปลง ตัดต่อ ปกปิด เสริมต่อ บิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด (Falsification)
  • การลอกเลียนโดยมิชอบ (Plagiarism)
  • การเป็นหรือไม่ได้เป็นผู้นิพนธ์โดยไม่เหมาะสม (Misconduct in Authorship)
  • และประเด็นอื่นๆ ตามแต่อธิการบดี เห็นเหมาะสม

นโยบายด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบในการส่งเสริมและคุ้มครองให้เกิดมาตรฐาน ความเป็นธรรม และคุณภาพที่ดีเกี่ยวกับจริยธรรมด้านงานวิชาการและวิจัย จึงประกาศนโยบายด้านจริยธรรมด้านงานวิชาการและงานวิจัย ดังนี้

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยึดถือมาตรฐานสูงสุดของจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยที่จัดทำโดยบุคลากรและนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในด้านกระบวนการทำงาน และการสื่อสารหรือเผยแพร่ผลงาน
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสรรทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยของบุคลากรและนิสิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน
  3. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจในการให้ความรู้ เสริมสร้างจิตสำนึก และสร้างความตระหนักรู้ด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยแก่บุคลากรและนิสิต
  4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดให้มีกลไกในการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยุติธรรม
  5. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดให้มีความร่วมมือในการทำงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย ได้จัดทำระเบียบวิธีปฏิบัติมาตรฐาน คณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้ประกาศใช้เป็นแนวปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความน่าเชื่อถือ ได้สอดคล้องกับหลักจริยธรรมการวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะใช้เป็นกรอบแนวทางกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ องค์ประกอบและการได้มาซึ่งคณะกรรมการ และแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการ

รายชื่อคณะกรรมการ

  1. รักษาการแทนรองอธิการบดี (ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์) ที่ปรึกษา
  2. ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ประธานคณะกรรมการ
  3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช กรรมการ   
  4. ศาสตราจารย์ ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา กรรมการ
  5. อาจารย์ นายแพทย์กิตติศักดิ์ กุลวิชิต กรรมการ
  6. ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิจัย (รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์) กรรมการ
  7. ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมคุณภาพและเผยแพร่งานวิจัย สำนักบริหารวิจัย เลขานุการ
  8. เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย ผู้ช่วยเลขานุการ

ขอบเขตหน้าที่คณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย

หลักสูตรจริยธรรมออนไลน์

นักวิจัยที่ต้องการศึกษาด้านจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและต่อยอดการทำวิจัยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สามารถสมัครเรียนหลักสูตรจริยธรรมงานวิจัยออนไลน์ที่จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สร้างกลไกสนับสนุนงานวิชาการและงานวิจัยที่มีมาตรฐานระดับประเทศ

ขั้นตอนการเรียนหลักสูตรออนไลน์มี 5 ขั้นตอน
  • สมัครสมาชิกและคลิกเข้าสู่ระบบ
  • ทำแบบทดสอบก่อนเรียน
  • เริ่มเข้าสู่บทเรียน
  • ทำแบบทดสอบหลังเรียน 5.รับใบประกาศนียบัตร
  • ศึกษาหลักสูตรออนไลน์ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • เมื่อศึกษาจบหลักสูตรจะได้รับเอกสารรับรองการฝึกอบรมทางอิเล็กทรอนิกส์
    (e-Certificate) ผลการรับรองเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ออกใบรับรอง

การร้องเรียนจริยธรรม

ขอบเขตการพิจารณาข้อร้องเรียน

สำนักงานเลขานุการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย ภายใต้ ฝ่ายส่งเสริมคุณภาพและเผยแพร่งานวิจัย สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับการยื่นเรื่องร้องเรียนในประเด็นการละเมิดจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย โดยเป็นหน่วยงานที่เชื่อมประสาน คณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพิจารณา ข้อร้องเรียนผ่านกระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียนอย่างมีความชอบธรรม

หากบุคลากรและนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป พบเห็นเหตุการณ์ที่บุคลากรหรือนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กระทำการผิดจริยธรรมต่องานวิชาการและงานวิจัย ครอบคลุมในประเด็น

  • การสร้างข้อมูลโดยมิได้เกิดขึ้นจริง (Fabrication)
  • การดัดแปลง ตัดต่อ ปกปิด เสริมต่อ บิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด (Falsification)
  • การลอกเลียนโดยมิชอบ (Plagiarism)
  • การเป็นหรือไม่ได้เป็นผู้นิพนธ์โดยไม่เหมาะสม (Misconduct in Authorship)
  • และได้เก็บหลักฐานเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริง สามารถแจ้งข้อร้องเรียน หรือ แจ้งเบาะแส มาที่คณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย
วิธียื่นเรื่องร้องเรียน

ผู้ร้องเรียนสามารถร้องเรียนได้ทั้งการเปิดเผยตัวตนและไม่เปิดเผยตัวตน

  •  การร้องเรียนมี 2 วิธี
  1. กรอกแบบฟอร์มยื่นข้อร้องเรียนที่ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์
  2. ส่งจดหมายร้องเรียนระบุชื่อ-นามสกุล หน่วยงานสังกัดของผู้ถูกร้องเรียน เรื่องที่ต้องการร้องเรียน พร้อมส่งเอกสารเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ ในกรณีที่ประสงค์เปิดเผยตัวตนให้ระบุ ชื่อ-นามสกุลและช่องทางติดต่อกลับของผู้ร้องเรียน
  • วิธีการส่งเรื่องร้องเรียนมี 3 วิธี โดยเลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่ง
  1. ยื่นเรื่องร้องเรียนด้วยตนเอง
  2. ยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางไปรษณีย์ที่: สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย สำนักบริหารวิจัย อาคารจามจุรี 5 ชั้น 6 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่ 254 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  3. ยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านทาง email: petition.orai@chula.ac.th
    • คณะกรรมการฯ จะพิจารณา สอบสวน และสืบสวนหาข้อเท็จจริง ประกอบหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ ผ่านกระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียน
    • ผลคำพิจารณาวินิจฉัยจะได้เสนอให้อธิการบดีได้พิจารณา
    • หากคณะกรรมการฯ พบว่า หลักฐานที่ผู้ร้องเรียนได้ส่งมาไม่เป็นความจริง หรือ ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จในการร้องเรียน คณะกรรมการฯ มีสิทธิ์ยุติกระบวนการพิจารณา
    • แบบฟอร์มยื่นเรื่องร้องเรียน (คลิก)

 

กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน

คณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย มีกระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียน ดังนี้

  1. คณะกรรมการฯ พิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากเอกสารและหลักฐานที่ได้รับทั้งหมดจากผู้ร้องเรียน และสามารถเชิญผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียนมาให้ถ้อยคำและจดบันทึกการให้ถ้อยคำไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ถูกร้องเรียนสามารถมาให้ถ้อยคำเองได้ ในกรณีที่คณะกรรมการฯ ไม่ได้เชิญมาให้คำร้องเรียน
  2. คณะกรรมการฯ จะจัดประชุมเพื่อร่วมอภิปรายข้อร้องเรียนและร่วมออกเสียงลงมติ โดยมติที่เป็นเอกฉันท์ถือเป็นคำวินิจฉัยที่จะรายงานผลต่ออธิการบดีจุฬาฯ และแจ้งผลคำวินิจฉัยต่อผู้ร้องเรียนภายใน 10 วันทำการ 
  3. ผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียน สามารถอุทธรณ์ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ได้โดยตรงกับอธิการบดี โดยทำหนังสืออุทธรณ์เป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากอธิการบดีได้พิจารณาคำอุทธรณ์แล้ว สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือส่งเรื่องอุทธรณ์กลับมาให้คณะกรรมการจริยธรรมการเผยแพร่งานวิชาการและวิจัยชุดเดิมพิจารณาอีกครั้ง หรือพิจารณาไม่รับคำอุทธรณ์ หรือปฏิบัติอย่างอื่นตามที่เห็นเหมาะสม
  4. กระบวนการพิจารณารับเรื่องร้องเรียน (คลิก)

คำถามที่พบบ่อย

การซื้องานวิจัยหรือให้ผู้อื่นทำงานวิจัยแทน มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่?
  • มีความผิดตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 บัญญัติว่า

    “เพื่อประโยชน์ในการรักษามาตรฐานการอุดมศึกษา หลักธรรมาภิบาลและความซื่อสัตย์สุจริตทางวิชาการ ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการ เพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร มาตรา 77 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
  • นอกจากนั้น ยังมีประกาศเรื่อง มาตรฐานการวิจัย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุถึงมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ รวมทั้งจริยธรรมนักวิจัยด้วย ดังนั้น การที่มีนักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ผ่านการซื้อผลงานเพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ จึงเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการ

ข้อมูลจาก : https://www.moj.go.th/view/81686

ผู้ประสานงาน

เจ้าหน้าที่บริการการศึกษา

โทรศัพท์ 0-2218-0450

Line @cu.research

E-mail: orai@chula.ac.th

ข้อมูลการติดต่อ

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย ฝ่ายส่งเสริมคุณภาพและเผยแพร่งานวิจัย สำนักบริหารวิจัย

อาคารจามจุรี 5 ชั้น 6 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่ 254 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330